วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

สมัครสมาชิกเขียนข้าว

Google Groups สมัครสมาชิกไปยัง กลุ่มเขียนข้าว
อีเมล์:
ดูเอกสารที่เก็บรวบรวมไว้ ที่ groups.google.com

KEEP SILENCE

Keep silence is the practice in Buddhism. It's not strict for everyone to do it. If you are a Buddhist, it no need for you to do. But if you love to practice you can do it.
Keep silence is just the stop speaking depend on your need. You may stop for 1 day, 2 days, 3 days or 1 year if you can !!
Or you just want to do it everyday at some term of time, such as you want to keep silence during the sun set to sun rise (night time). And you can speak during 6 am - 6 pm.... That's your world !!
Keep silence can make you concerned more about yourself because it will make you have more mindful to your daily life.
For me it's a very exciting time when I start to practice it. I can see much more about my mind. It always run away from me to everywhere, everywhere it can go....
When I finished my keep silence practice. It always be the good time for me to start with the daily life with mindfulness.
Anyway, to be a good monk with good practice is very difficult !!
May you try it, the keep silence at your place.... at your home is very okay !!
Phra Chai Waradhammo
P.S. I think perhaps other religion also have THE KEEP SILENCE PRACTICE.... but in another name
Keep silence has in all 3 kinds of Buddhism, Theravada, Mahayana, and Vacharajana (Tibetan Buddhism). It's the special way to get to know yourself more and more. And it's the shortcut to go inside yourself and Buddhism !!

วิกฤติโลก ภายใต้โครงสร้างสังคม ชายเป็นใหญ่

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๑
พระชาย วรธมฺโม


หากแนวคิด “สตรีนิยม” พอจะเป็นองค์ความรู้ประการหนึ่ง และพอจะมีความหมายกับสังคมมนุษย์เรา ที่มีโครงสร้างสังคมผู้ชายเป็นใหญ่อยู่บ้างละก็ ผู้เขียนอยากมองวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกของเราขณะนี้ด้วยแนวคิดสตรีนิยม ๓ ประเด็น
ประเด็นแรก สงครามที่มนุษย์กระทำต่อกันแต่ละครั้ง นับตั้งแต่ครั้งบรรพกาลเป็นต้นมาจนกระทั่งบัดนี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามเล็ก สงครามใหญ่ สงครามย่อย สงครามกลางเมือง สงครามระหว่างเมือง ไปจนถึงสงครามใหญ่ ๆ อย่างเช่นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง มาจนถึงเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่นำไปสู่บรรยากาศอันตึงเครียดและเร่าร้อนด้วยความขัดแย้ง และมีทีท่าว่าจะก่อตัวเป็นสงครามใหญ่อยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นสงคราม เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยมีผู้ชายเป็นผู้นำ หรือมีผู้ชายเป็นผู้กระทำให้เกิดขึ้นเสียเป็นส่วนมาก อาจจะมีสงครามบางยุคบางสมัยหรือบางเหตุการณ์เท่านั้นที่เกิดขึ้นโดยมีผู้หญิงเป็นผู้นำ แต่ก็พบว่าน้อยครั้งมากที่ผู้หญิงจะออกมาเป็นผู้นำในการทำสงคราม หรือออกมาเป็นผู้ประกาศทำสงครามเสียเอง
ประเด็นที่สอง ในโลกของเราแต่ละประเทศล้วนแล้วแต่ปกครองโดยมีผู้นำเป็นชายแทบทั้งสิ้น การที่แต่ละประเทศมีผู้นำเป็นเพศชาย ใช่หรือไม่ว่า นี่ก็เป็นเหตุปัจจัยอีกข้อหนึ่ง ที่เอื้อให้โลกของเราต้องประสบกับเหตุการณ์และความรุนแรงอยู่เนือง ๆ มาโดยตลอด กรณีนี้หากเราลองคิดดูเล่น ๆ ว่าถ้าบนโลกของเรามีผู้นำประเทศเป็นเพศหญิงกันหมดทุกประเทศ โลกของเราจะเป็นอย่างไร จะมีสันติสุขมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ หรือเพียงครึ่งหนึ่งของโลกมีผู้นำประเทศเป็นเพศหญิง เราก็อาจจะได้เห็นความแตกต่างในบรรยากาศแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างที่เคยเป็นก็เป็นได้ หรือลองคิดง่าย ๆ ดูว่าหากประธานาธิบดีของสหรัฐเป็นผู้หญิงล่ะ วิธีการปฏิบัติกับประเทศอื่น ๆ บนโลกที่ผ่านมาทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันจะมีสภาพอย่างที่ปรากฏอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องการประกาศทำสงครามกับอัฟกานิสถาน จะมีการประกาศทำสงครามอย่างรุนแรงเช่นนี้หรือไม่ การที่ผู้เขียนเสนอเช่นนี้ไม่ได้เสนอขึ้นมาลอย ๆ แต่เสนอขึ้นมาจากฐานคิดที่ว่า เพศหญิงเป็นเพศที่ให้กำเนิดชีวิตที่ต้องมีการอุ้มท้องนาน ๙ เดือน คงมีโอกาสน้อยที่ผู้หญิงจะมีวิธีคิดวิธีแก้ไขปัญหาแบบทำลายล้าง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือคงเป็นไปได้น้อยที่เพศที่ให้กำเนิดชีวิตจะกลายเป็นเพศที่ทำลายชีวิตได้ง่าย ๆ (ประเด็นนี้เป็นคนละประเด็นกับกรณีการทำแท้งของผู้หญิง เพราะเราต้องเข้าใจว่า การทำแท้งของลูกผู้หญิง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะมีสาเหตุมาจากการจัดระเบียบทางวัฒนธรรมและสังคม ที่มีความเคร่งครัดและเคร่งเครียดต่อผู้หญิงเป็นอย่างมาก โดยที่การจัดระเบียบทางวัฒนธรรมที่มีความเคร่งเครียดและเคร่งครัดต่อผู้หญิงอันนี้เอง ก็มีรากฐานมาจากโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า การทำแท้งของผู้หญิง ก็เป็นผลพวงที่มีอิทธิพลมาจากทัศนคติที่ยึดถือเอาชายเป็นใหญ่ ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของผู้หญิงโดยตรง)
ประเด็นที่สาม โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่นั่นเอง ที่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของวินาศกรรมและความรุนแรงที่ตามมาในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเรื่องการประกาศทำสงคราม การประกาศใช้ความรุนแรงเข้ายุติเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศใดประเทศหนึ่ง การประกาศเข้าร่วมทำสงครามกับประเทศมหาอำนาจ โดยที่ประเทศที่ประกาศเข้าร่วมทำสงครามนั้นต่างก็มีผู้นำเป็นเพศชายด้วยกันทั้งสิ้น และก็แน่นอนว่ามีประชาชนมากมายต่างก็เห็นด้วยกับวิธีคิด–วิธีตัดสินใจในลักษณะนี้ เพราะว่าประชากรของโลกส่วนใหญ่ต่างก็ถูกทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่เข้าครอบงำเสียแล้ว คงเป็นไปได้ยากที่ใครสักคนจะไม่ถูก “ความคิดแบบชายเป็นใหญ่” เข้าครอบงำ เพราะว่าทัศนคติดแบบชายเป็นใหญ่ได้ครอบคลุมโลกสีฟ้าใบนี้ไปเกือบหมดทุกหย่อมหญ้าเสียแล้ว... ที่สำคัญกว่าความรุนแรงอื่นใดก็คือเมื่อเกิดภาวะสงครามขึ้น การใช้ความรุนแรงระหว่างเพศที่ปกติเคยมีอยู่แล้วก็กลับจะมีเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว นั่นก็คือ การข่มขืนกระทำชำเราสตรีเพศโดยฝ่ายที่มีชัยเหนือกว่า ตรงนี้ไม่ต้องมองไกลเอาใกล้ ๆ แค่เหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ เราก็ยังพบว่านักศึกษาหญิงที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเองก็ยังถูกฝ่ายที่มีชัยเหนือกว่าข่มขืน โดยที่ความรุนแรงระหว่างเพศตรงนี้มาจากวิธีคิดว่าใครก็ตามที่ไม่ใช่พวกเดียวกับเราต่างป็นศัตรูทั้งสิ้น โดยไม่มีการมองว่าผู้หญิงก็คือบุคคลที่ควรได้รับการงดเว้นแม้จะอยู่ฝ่ายตรงข้าม นี่คือความรุนแรงที่เราต้องตระหนักรู้กันให้มากภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่
และหากวิเคราะห์ดูให้ดีในท่ามกลางวินาศกรรมและวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ คนที่ก่อวินาศกรรมบนเครื่องบินก็เป็นเพศชาย นายจอร์จดับเบิ้ลยูบุชเองก็เป็นเพศชาย อีกทั้งนายบิน ลาดิน ผู้ตกเป็นจำเลยที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมตัวจริงหรือไม่ ก็มีวิธีการตอบโต้ด้วยวิธีการรุนแรงก็เป็นเพศชาย ดูไปตามเนื้อผ้าแล้วโลกของเราช่างตกอยู่ในกำมือของเพศชายจริง ๆ
คงถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ผู้ชายควรจะได้เรียนรู้วิธีคิด–วิธีตัดสินใจแบบประนีประนอมบ้าง ผู้หญิงเองควรมีโอกาสในการออกมาตัดสินชะตากรรมโลกมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงตกอยู่ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรมและเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด หรือไม่เช่นนั้นสังคมโลกมนุษย์ก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ นั่นคือเปลี่ยนโครงสร้างและทัศนคติ ที่เคยเปิดโอกาสให้ชายเป็นใหญ่ ไปสู่โครงสร้างสังคมที่ให้ความเสมอภาคและความสำคัญแก่ทุกเพศสภาพ
แต่ถ้าหากไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด–วิธีตัดสินใจแบบชาย หรือไม่มีแม้แต่โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนไป ก็คงเป็นเรื่องที่น่าหวั่นวิตกว่า โลกมนุษย์อาจจะต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ด้วยอาวุธร้ายแรงที่มนุษย์คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการทำสงครามโดยเพศชายเป็นใหญ่ ซึ่งจะมีผู้หญิง เด็กและคนชราต้องตกเป็นแพะรับบาปจากสงครามอย่างรุนแรง และโลกจะต้องประสบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ไปอย่างนี้ต่อไปอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่กำลังปะทุอยู่ในขณะนี้ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอัฟกานิสถาน และอาจเป็นชนวนที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ เข้าร่วมทำสงครามกันเป็นขบวน ซึ่งเรายังไม่อาจประเมินได้ว่าความสูญเสียครั้งนี้จะไปสิ้นสุดที่มูลค่าเท่าใดและไปยุติลง ณ กาลเวลาไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมูลค่าชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่ต้องถูกทำลายล้างไป อันเป็นสิ่งที่ไม่อาจประเมินค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ หรือในที่สุดแล้ว ก็อาจจะเหลือมนุษย์กลุ่มสุดท้ายเพียงไม่กี่คน ที่รอดพ้นจากหายนะสงครามมนุษย์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเอง หรือในที่สุดก็อาจจะไม่เหลือแม้แต่สิ่งมีชีวิตสักหน่วยเดียวบนโลกใบนี้

ความรุนแรง ที่ละมุนละไมและแนบเนียน



ที่บอกว่าเป็นความรุนแรง ที่ละมุนละไมแนบเนียน ตามชื่อบทความ ก็เพราะว่า เมื่อใดที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนรักเพศเดียวกัน เป็นพวกโรคจิต วิปริต ผิดปรกติ กลับไม่มีใครลุกขึ้นมา ทักท้วงหรือคัดค้าน จะมีก็แต่ความเงียบ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังเสวนาว่าด้วยเรื่อง "ความรุนแรงต่อหญิงรักหญิงจะยุติลงได้อย่างไร?" จัดขึ้นที่โรงแรม เอส ดี อเวนิว ผู้เขียนได้แสดงความเห็นว่า "ความรุนแรงที่เกิดกับคนรักเพศเดียวกันนั้น ก็ไม่ต่างจาก ความรุนแรง ที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืน" ที่พูดอย่างนั้นก็เพราะเพียงคำว่า ผิดปรกติ คำเดียวแค่นี้ ก็จัดว่ารุนแรงและสาหัสแล้ว ไม่ต้องไปสรรหาคำรุนแรงอื่นๆ มานินทาให้เสียเวลา ได้ยินครั้งหนึ่งก็เท่ากับถูกข่มขืนไปคราวหนึ่ง ลองคิดดูว่าคนที่รักเพศเดียวกัน ในชีวิตของเขาจะถูก ข่มขืนด้วยคำพูดที่รุนแรงเช่นนี้ไปกี่ครั้ง ซึ่งถึงแม้เขาจะไม่ได้ถูกข่มขืนทางร่างกาย แต่สิ่งที่เขาถูกกระทำก็คือการถูกกระทำชำเราทางจิต ซึ่งตรงนี้เราสามารถ สังเกตได้ง่ายๆ ว่า คนที่ถูกข่มขืนไม่กล้าลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อสิทธิและความถูกต้องของตนฉันใด คนที่รักเพศเดียวกัน ต่างก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาเปิดเผยตัวเอง เพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิและความถูกต้องของตนฉันนั้น และที่บอกว่าเป็นความรุนแรงที่ละมุนละไมแนบเนียนตามชื่อบทความ ก็เพราะว่า เมื่อใดที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนรักเพศเดียวกันเป็นพวกโรคจิต วิปริต ผิดปรกติ กลับไม่มีใครลุกขึ้นมาทักท้วงหรือคัดค้าน จะมีก็แต่ความเงียบ ซ้ำร้ายกว่านั้น ก็คือ คนที่รักเพศเดียวกัน ก็ยิ่งวิตกกังวล ถูกกดดันและต้องปิดบังตัวเองมากยิ่งขึ้น เพราะหากเปิดเผย ตัวเองไป ก็จะยิ่งถูกมองว่าเป็นพวกวิปริต ผิดปรกติ และอาจถูกตั้งแง่รังเกียจตามมา นี่จึงเป็น "ความรุนแรงที่ละมุนละไมและแนบเนียน" ที่สังคมปล่อยให้ลอยนวลมาตลอด รายการเสวนาวันนั้นทำให้รู้ว่า ความรุนแรงไม่ได้เกิดจาก "ความเงียบ" ของสังคมที่เพิกเฉย ไม่นำพาเอาใจใส่ต่อสมาชิกร่วมสังคมกลุ่มนี้ ให้ได้รับความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโครงสร้างอื่นๆ อีกหลายด้าน เช่น อุดมการณ์เหย้าเรือน ที่พยายาม พร่ำบอกเสมอ ถึงบทบาทอันชัดเจนของสมาชิกหญิงชายที่ชัดเจนตายตัวภายในครอบครัว, ตัวบทกฎหมาย ทั้งกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายศีลธรรมที่ยังมีเนื้อหาไม่เข้ากับพฤติกรรมทางเพศที่เป็นจริงของคนในสังคม, ละครจากสื่อที่มุ่งเสนอทัศนคติต่อบทบาทชายหญิงที่ติดกรอบ, ท่านผู้รู้ที่มีดีกรีทางแพทย์และจิตศาสตร์ แต่ยังมีความ รู้เรื่องพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของบุคคลอย่างไม่รอบด้าน จึงยังคงออกมาให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง, หรือแม้แต่รายการเสวนา ที่มักจะตั้งชื่อหัวข้อที่เรียกร้องความสนใจว่า "เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นเกย์" แค่ได้ยินชื่อก็อาจทำให้คนที่เป็นเกย์ได้ผมร่วงไปหลายสิบเส้นเสียแล้ว ดูเหมือนว่า ความรุนแรงที่มีต่อคนรักเพศเดียวกัน จะตลบอบอวลไปในอากาศทุกอณู นี่ยังไม่นับรวมถ้อยคำ ที่ใช้เรียกขานคนกลุ่มนี้ว่า พวกรักร่วมเพศ พวกเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นศัพท์วิชาการ แต่ก็อดรู้สึกและ เข้าใจไปไม่ได้ว่า ยังเป็นศัพท์วิชาการที่มีความรุนแรงเจือปนอยู่ ระหว่างการเสวนา ผู้เขียนมีโอกาสเสนอหลักธรรมที่อาจช่วยยุติความรุนแรงแก่คนรักเพศเดียวกัน นั่นก็คือเรื่อง พรหมวิหาร 4 ซึ่งประกอบไปด้วย เมตตา คือ การภาวนาขอให้คนอื่นมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นอะไร มีอัตลักษณ์หรือตัวตน แบบไหนก็ขอให้มองเขาด้วยเมตตา ปรารถนาอยากให้เขามีความสุขอย่างที่เขาเป็นเวลาที่เรามองคนอื่นด้วยความเมตตา ก็จะทำให้จิตของผู้ภาวนานั้น เย็นและมีความสุขไปด้วย และยังทำให้บรรยากาศรอบๆ เต็มไปด้วยความอบอุ่น กรุณา คือ การภาวนาขอให้คนอื่นพ้นทุกข์ ในที่นี้ คือ การภาวนาขอให้คนที่รักเพศเดียวกันพ้นจากการเข้าใจผิด พ้นจากการถูกรังเกียจ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ให้เขาพ้นจากความเป็น หญิงรักหญิง - ชายรักชาย เพราะความเป็นทั้งสองไม่ใช่ความทุกข์ แต่คนที่เป็นทุกข์และควรจะพ้นทุกข์มากกว่า คือคนที่เป็น Homophobia (คนที่รังเกียจบุคคลที่รักเพศเดียวกัน) เราควรภาวนาขอให้เขาพ้นจากความรู้สึกรังเกียจเช่นนั้น เพราะการรังเกียจ นั่นเอง ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่ความรุนแรงอื่นๆ ตามมา มุทิตา คือ การร่วมยินดีแก่บุคคลที่รักเพศเดียวกันเพราะเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเคารพและจริงใจกับตัวเอง ในขณะที่คนอื่นๆ อาจทำไม่ได้อย่างเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรยินดีกับเขามากๆ หากเขาสามารถเปิดเผยตัวเองได้ เพราะเขากำลังทำสัจธรรมให้ปรากฏ นั่นคือการพูดความจริง อุเบกขา คือ การรู้จักปล่อยวาง หากเราไม่เห็นด้วยที่เขาเป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย ทอม เกย์ ดี้ หรือรักสองเพศ แต่สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างด้วยความสงบ และปล่อยวาง หากการกระทำของเขานั้น ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้ใคร พึงจำไว้ว่า การเป็นคนรักเพศเดียวกันของบุคคล ยังไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร ตราบเท่าที่บุคคลยังไม่ได้ไป ละเมิดคู่รักของคนอื่น ซึ่งมาตรฐานตรงนี้ ก็ไม่น่าหลุดไปจากกรอบศีลธรรมที่คู่รักต่างเพศนิยม ยึดถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว ตรงนี้เห็นกันอย่างไรคงต้องฝากไว้พิจารณากันดู นั่นคือใจความของหลักธรรมเรื่องพรหมวิหาร ถึงแม้หลักธรรม ที่ผู้เขียนได้เสนอไปนั้น อาจจะไม่ใช่ข้อเสนอแนะที่ดีที่สุด แต่เราควรตระหนักรู้ว่าการอยู่ร่วมกันกับ บุคคลอื่นที่แตกต่างไปจากเรา (ซึ่งความแตกต่างนั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน) ด้วยสันตินั้น จำเป็นต้อง เรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก และจัดว่าเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสูงทีเดียว.

พระชาย วรธัมโม
สะพาน

จาก 'ภิกษุณี' ถึง 'องคุลิมาล' เถรวาทห้ามแตะ

อนุรักษ์ ภาคภูมิ
สนามวิจารณ์ จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

ในที่สุดหนัง องคุลิมาล ก็ได้ลงโรงฉายเสียทีหลังจากที่ถูกองค์กรพุทธ ๒๐ กว่าองค์กรพากันพยายามแตะเบรกระงับการฉาย ด้วยการอ้างว่าเนื้อหาของหนังบิดพลิ้วไม่ตรงกับเรื่องราวในพระไตรปิฎก จะว่าไปกรณีแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเก่าซ้ำๆ ซากๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคม พุทธเถรวาทแบบไทยๆ หากใครจะออกมาทำอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับประเด็นทางพุทธศาสนาก็อย่าแปลกใจนัก หากจะเจอะเจอกับเหตุการณ์ทำนองนี้
ตัวอย่าง ๒-๓ ปีที่แล้วหลังจาก อ.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ตัดสินใจออกบวชเป็นสามเณรี ท่านก็พยายามปลุกสังคมให้ตื่นตัวและเปิดประเด็นให้สังคมได้เรียนรู้เกี่ยวกับนักบวชหญิงที่เรียกว่า ภิกษุณี แต่ในที่สุดท่านก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จผลเป็นที่น่าพอใจนัก เพราะคณะสงฆ์ที่มีอำนาจเหนือกว่ามองไม่เห็นว่าสังคมไทยควรมีภิกษุณี อีกทั้งการออกมาเคลื่อนไหวก็ทำให้เนื้อตัวท่านต้องถลอกปอกเปิกไม่น้อย เพราะแรงปะทะไม่ได้มีมาจากคณะสงฆ์เท่านั้น ยังมีมาจากกระแสของพุทธบริษัทบางกลุ่ม มาจากองค์กรพุทธบางองค์กร รวมทั้งมาจากผู้หญิงด้วยกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักหากใครจะลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ ในสังคมไทย
แม้แต่พระสงฆ์ที่เห็นด้วยอย่างท่าน พระศรีปริยัติโมลี เมื่อท่านออกมาพูดสนับสนุนภิกษุณีบ่อยครั้งเข้า (ทราบจากวงในว่า) ในที่สุดท่านก็ได้รับคำเตือนจากคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ว่า หากออกมาพูดอีกจะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง เราจึงไม่เห็นท่านออกมาพูดสนับสนุนภิกษุณีในที่สาธารณะอีกเลย
แท้จริงแล้วพระสงฆ์หลายรูปก็ไม่ได้คิดเหมือนกับที่คณะสงฆ์ในมหาเถรสมาคมคิด หลายท่านอยากให้มีภิกษุณีแต่ไม่สามารถออกมาแสดงความเห็นในที่สาธารณะได้ ซึ่งการที่ท่านไม่สามารถออกมาพูดได้นั้นคงเดาได้ไม่ยากว่ามีเงื่อนไขเรื่องอำนาจสงฆ์เป็นอุปสรรคอยู่
แม้กรณี พระเมตตานันโท ที่ท่านเขียนหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ.๑ ออกมาถึงสองเล่ม อันเป็นหนังสือที่วิเคราะห์เหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพานไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเล่ม ๒ มีเนื้อหาที่กล่าวพาดพิงถึงการกำเนิดและความเป็นไปของภิกษุณีสงฆ์ ภายหลังพุทธปรินิพพานไว้อย่างละเอียดพิสดารและท้าทายยิ่งนัก ด้วยวิธีคิดที่แตกต่างของท่านเมตตานันโนนั่นเอง (ทราบมาอีกว่า) เกือบทำให้ท่านหาวัดอยู่ไม่ได้เหมือนกัน
การออกมาแสดงจุดยืนของนักบวช ๓ ท่านดังกล่าว ที่พยายามแตะต้องประเด็นภิกษุณีอันเป็นการแสดงออกถึงทัศนคติที่แตกต่างจากสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ท่านทั้งสามได้ถูกจัดการและควบคุมจากฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าและไม่เห็นด้วยอย่างไร
ย้อนกลับมาที่หนังเรื่อง องคุลิมาล ซึ่งออกจะเป็นประเด็นที่คล้ายๆ กันอยู่ และก็เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยากว่าเหตุใดจึงมีการเรียกร้องให้มีการระงับการฉาย หรือตัดต่อภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเสียใหม่ เพียงเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้มีการดัดแปลงต่อเติ่มเรื่องราวเข้าไปให้พิสดาร ทั้งๆ ที่เป็นเพียงภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง โดยส่วนที่ต่อเติมดัดแปลงก็ไม่ได้ทำให้ส่วนที่เป็นเนื้อหาหลักผิดเพี้ยนไป และกลับพบว่าเป็นหนังที่มีคติสอนใจผู้ชมไม่น้อย
ประเด็นนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะเราสมาทานเป็น เถรวาท เราจึงไม่ยอมแม้แต่จะแตะต้อง หรือแม้แต่จะกล้าตีความพระธรรมวินัยใหม่ๆ ไม่ว่าพระธรรมวินัยข้อนั้นจะเอื้อประโยชน์ต่อมหาชนอย่างมหาศาลเพียงไรก็ตาม แม้เราจะมีหลัก กาลามสูตร ที่สอนให้พิจารณาก่อนเชื่อถือเรื่องราวใดๆ เป็นหลักประกันภายในอยู่แล้วเช่นกัน หรือแม้เราจะมีพุทธพจน์ (ที่กล่าวกับพระอานนท์) ว่า สิกขาบทเล็กน้อย สงฆ์จะพิจารณาเพิกถอนก็สามารถทำได้ ก็ดูจะเป็นประเด็นที่ยังไม่มีใครเคยหยิบยกมาใช้ในยามคับขันเสียที
ในที่สุด องคุลิมาล จึงเป็นเรื่องของ องคุลิมาล ที่ต้องถูกตัดต่อถ่ายทำให้ถูกต้องตามเนื้อหาในพระไตรปิฎกทุกกระเบียดนิ้ว เช่นเดียวกับเรื่องของภิกษุณี ที่ต้องมีการอุปสมบทอันมีที่มาที่ไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามแบบอย่างเถรวาท ห้ามบูดเบี้ยวเฉไฉแม้แต่น้อยนิด ในบรรยากาศเช่นนี้ ทำให้เราได้เห็นพุทธศาสนา ๒ ขั้วที่กำลังหันหน้าเข้าปะทะกันในสถานการณ์ต่างๆ หลายครั้งเป็นต้นมา ขั้วหนึ่งพยายามประยุกต์ศาสนธรรมให้เข้ากับยุคสมัยของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งพยายามดำรงรักษาไว้ซึ่งเนื้อหาและรูปแบบอย่างตรงตัวอักษร
ดูเหมือนพุทธศาสนาในยุคกึ่งพุทธกาลนี้กำลังก้าวไปพร้อมๆ กันระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับประยุกต์นิยมและก็ดูจะก้าวไปด้วยกันแบบเส้นขนานที่ค่อยๆ แยกห่างกันออกไปคนละเส้นทางหาไม่แล้วหนังองคุลิมาลก็คงไม่ต้องแปะฉลากก่อนชมว่า หนังเรื่องนี้เป็นจินตนาการของผู้สร้าง ซึ่งคนดูก็คงมีวิจารณญาณแยกแยะได้ออกอยู่แล้วถึงจะไม่ต้องแปะฉลากก่อนชมก็ตาม
อุทาหรณ์จากหนังเรื่ององคุลิมาลอาจทำให้นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่ต้องการนำเสนออะไรใหม่ๆ ในสังคมไทยต้องทำการบ้านหนักขึ้นกว่าเก่าหากจะต้องไปแตะประเด็นศาสนาเข้า เพราะสังคมไทยยังไม่พร้อมให้ใครเข้าไปทำอะไรกับศาสนา ถ้าไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัวกลับมาเหมือนกรณีสามเณรีธัมมนันทา ก็อาจจะต้องเสี่ยงกับการขาดทุนเป็นเงินเป็นทองแบบองคุลิมาลหากหนังเรื่องนี้ถูกแบนขึ้นมาจริงๆ
เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่ต้องเสี่ยงกับการม้วนเสื่อกลับบ้านไปใช้หนี้หัวโตทีเดียว ..



อนุรักษ์ ภาคภูมิ มีข้อเขียนแสดงทัศนะบนหน้าหนังสือพิมพ์สม่ำเสมอ นอกจากผลงานที่มีหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องบุคคลรักร่วมเพศ ในมิติต่างๆ ทางสังคมแล้ว เขายังให้ความสนใจแก่ประเด็นทางศาสนาอีกด้วย

ตามสายน้ำ


อนุรักษ์ ภาคภูมิ


การนำเอาปรัชญาทางพุทธศาสนามาทำเป็นหนัง ในวงการภาพยนตร์บ้านเราดูเหมือนว่าจะพบเห็นไม่บ่อยนัก ล่าสุดที่เพิ่งผ่านตาไปไม่นานก็คือ ‘โอเค เบตง’ พูดถึงโลกสับสนของคนเพิ่งสึกก็ทำได้น่าสนใจดี แต่สำหรับ ‘ตามสายน้ำ’ แล้ว เป็นการนำเอาปรัชญาทางพุทธ มาผูกโยงเข้ากับเรื่องราวความรักของเกย์ ได้อย่างประณีตน่าสนใจและควรเก็บมาพูดถึงไม่น้อย
‘ตามสายน้ำ’ ว่าด้วยเรื่องราวความรักของกฤต (เกย์ที่รู้ตัวชัดเจนว่าเป็นเกย์) ที่มีต่อวิน (เกย์ที่ไม่ค่อยชัดเจนตัวเองว่าเป็นเกย์เท่าไร) เป็นความรักที่ไม่มีโอกาสพัฒนาไปสู่ความรักที่เป็นจริงไปได้ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ จนกระทั่งทั้งคู่พากันไปเที่ยวน้ำตก ที่นั่นกฤตจึงได้ค้นพบสัจธรรมบางอย่างรออยู่
หนังเปิดเรื่องด้วยฉากถวายสังฆทานที่ดูเหมือนว่า จะเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาวพุทธของคนไทยในเวลานี้ได้ดีที่สุด เกี่ยวกับการเข้าวัดเพื่อทำบุญ การกรวดน้ำในฉากนี้เป็นการเริ่มต้นของการใช้ ‘น้ำ’ เป็นสัญลักษณ์ต่อเนื่องไปสู่น้ำในฉากอื่น ๆ อีกหลายฉากในหนัง น้ำที่มีลักษณะของความเป็นธรรมชาติที่เลื่อนไหลไม่หยุดนิ่ง คล้ายกับอะไรบางอย่างที่พ้นไปจากการควบคุมของมนุษย์ เช่นเดียวกับคำสอนของหลวงตาที่บอกว่า อย่ายึดติด โลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ยั่งยืน มีเกิดก็ต้องมีดับ อย่ายึดติดเป็นเจ้าของ ปล่อยเป็นอิสระใจก็จะเป็นสุข
จากนั้นหนังก็เริ่มต้นเล่าเรื่องผ่านการบุกป่าขึ้นไปชมน้ำตก ระหว่างกฤตกับวินและเพื่อนผู้หญิงอีกสองคน หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของกฤตว่าตนกับวินนั้นรักกัน ทั้งคู่ชอบการท่องเที่ยว ไม่ว่ากฤตจะไปไหนก็ต้องมีวินตามไปด้วยเสมอ แต่ในวินาทีนี้คนดูก็อาจจะเริ่มงง ๆ พร้อม ๆ ไปกับเรื่องเล่าของกฤตตั้งแต่ฉากว่ายน้ำในห้วยที่มีวินเป็นฝ่ายว่ายนำแต่มีกฤตว่ายตาม (ในที่สุดแล้วใครเป็นฝ่ายตามกันแน่ ?) หรือเราจะเห็นได้ว่าขณะที่ภาพในจอหนังกำลังดำเนินไป
วินมีความกระอักกระอ่วนบางอย่างแสดงออกให้เห็นเป็นระยะ เมื่อกฤตตั้งคำถามว่าถ้ามีหมาวิ่งมารุมกัดกฤต วินจะทำอย่างไร วินได้แต่ตอบเรื่อย ๆ แบบไม่ได้ใส่ใจว่า ‘ก็คงจะเข้าไปช่วย’ บางทีวินอาจจะไม่ได้รักกฤตอย่างที่กฤตเล่าให้คนดูฟัง ? ที่ใต้ต้นนุ่นเมื่อกฤตล้มตัวลงนอนกอดวินวินก็รีบตัดบทลุกขึ้นหนีทันที เหตุการณ์ในห้องเรียนที่ทั้งคู่ต้องออกมาแสดงการปฐมพยาบาลคนจมน้ำ เมื่อกฤตแสดงการปฐมพยาบาลแบบเม้าทูเม้ากับวิน กฤตกลับถูกวินผลักจนล้มลงไปนอนกับพื้น แม้แต่สิ่งที่กฤตอธิษฐานก่อนทำบุญ ก็คือขอให้สมหวังในความรักมีความรักที่มั่นคงถาวรตลอดกาล ตอนนี้คนดูคงเริ่มเห็นแล้วว่ากฤตโหยหา ‘ความรัก’ จากวินขนาดไหน
เมื่อเดินเข้าป่าได้ครึ่งทางกฤตดันทุรังจะเดินขึ้นไปจนถึงน้ำตกชั้นสุดท้ายให้ได้ ในขณะที่อีกสามคน เริ่มถอดใจด้วยระยะทางที่ไกลและอันตราย ในที่สุดเพื่อนหญิงทั้งสองคน (คนหนึ่งเป็นแฟนของวิน) ก็แยกตัวกลับก่อนในขณะที่วินตัดสินใจเดินไปเป็นเพื่อนกฤตแต่ก็ไม่วายมีปากเสียงกัน การตัดสินใจเลือกไปกับกฤตแสดงให้เห็นว่าวินเลือกผู้ชายแทนที่จะเลือกไปกับผู้หญิงคือแฟนสาว เหตุการณ์ในหนังดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยมี ‘ภาพย้อนอดีต’ แทรกเข้ามาเป็นระยะเพื่อบอกเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครชายสองคนนี้ ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนและไม่ราบรื่นนัก
ถ้าวินเป็นเกย์ที่ปกปิดความเป็นเกย์ของตัวเอง อย่างที่ผู้กำกับอธิบายให้ฟัง ในเบื้องหลังการถ่ายทำของหนังเรื่องนี้ละก็ตัวละครสองตัวระหว่างกฤตกับวิน ช่างมีอะไรที่แตกต่างกันลิบลับ กฤตสนองตอบความต้องการของตนเองด้วยการไปเที่ยว ‘ห้องมืด’ สถานบริการทางเพศของเกย์ที่ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากัน เพียงแค่ใช้มือสัมผัสกันหากสัมผัสถูกต้องตัวใคร ก็คือคนนั้นที่จะเป็นผู้บำบัดความใคร่ให้กันและกันในค่ำคืนแห่งความหิวกระหาย ในขณะที่วินเสแสร้งสนองตอบความต้องการในเพศเดียวกันของตน ด้วยการหันไปซื้อบริการกับผู้หญิงนั่งชั่วโมงตามบาร์ จนกระทั่งมาเจอกับกฤตยืนเตร่อยู่หน้าบาร์ในคืนหนึ่ง
วินต้องคอยคบหญิงบังหน้าถึงแม้จะต้องประสบกับการแยกทางซ้ำ ๆ ซาก ๆ ภายใต้เหตุผลยอดฮิตที่เขาต้องคอยตอบใคร ๆ ว่า ‘เข้ากันไม่ได้’ และคอยหลีกเลี่ยงคำถามที่เขามักจะถูกถามอยู่เสมอว่าชอบผู้หญิงหรือเปล่าด้วยการเปรย ๆ ว่า ‘ทำไมใคร ๆ ชอบคิดว่ากูเป็นเกย์’ ซึ่งเขาช่างดูวิตกกังวลกับการเป็นเกย์มาก ๆ
กฤตใช้ชีวิตไปตามสบายอยากมีอะไรกับใคร ก็มีแม้แต่กับฝรั่งที่อาจจะรู้จักกันแค่ชั่วข้ามคืน แต่สำหรับวินแล้วเขาเป็นเกย์ที่ต้องคอยปกปิดตัวตน ด้วยการซื้อบริการทางเพศกับหญิงให้คลายความกำหนัดไปวัน ๆ และแม้ว่าทั้งคู่จะเลือกการปลดปล่อยความต้องการทางเพศไปคนละวิถี แต่สิ่งที่ทั้งคู่มักจะมีอะไรทำร่วมกันเสมอคือการเข้าวัดทำบุญด้วยกัน ฉากที่กระแทกใจคนดูไม่น้อยน่าจะเป็นฉากที่สองหนุ่มเข้าไปไหว้พระในโบสถ์ หลังจากค่ำคืนที่ผ่านมาต่างก็มีเซ็กส์ในแบบที่ตนเลือกที่จะปลดปล่อยไปตามความใคร่ของตน หนังทำให้เห็นความขัดแย้งในพฤติกรรมมนุษย์ ระหว่างกิเลสตัณหากับความฝักใฝ่ในความสะอาดบริสุทธิ์ ตัวละครเข้าไปกราบไหว้พระในโบสถ์ในขณะที่ฉากก่อนนี้เรา (คนดู) ได้เห็นพฤติกรรมของตัวละครที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ประพฤตินอกกรอบศีลธรรมทางเพศ’ ที่สังคมวางไว้ บางทีหนังกำลังสะท้อนว่าทั้งตัวละครหรือแม้แต่คนดูเองต่างก็ ‘ร่วมเพศในตอนกลางคืน’ และ ‘เอามือไหว้พระในตอนกลางวัน’ ด้วยกันทั้งนั้น
ในที่สุดเมื่อกฤตเผยความในใจว่าตนเองรักวินและ ณ ที่นั้นมีอยู่กันเพียงสองคน สิ่งที่กฤตเฝ้าหวังมานานก็เกิดขึ้นเมื่อกฤตโผเข้ากอดวินอย่างแนบแน่น แล้วทั้งคู่ก็กลายเป็นของกันและกันท่ามกลางป่าเขาในค่ำคืนนั้นเอง แต่แล้วสิ่งที่ผิดความคาดหมายก็เกิดขึ้นเมื่อกฤตคิดว่าวินจะยอมรับความรักที่ตนมีให้พร้อม ๆ กับการยอมรับตัวเองว่าเป็นเกย์ก็กลายเป็นสิ่งที่วินปฏิเสธผ่านคำพูดว่า ‘ไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้นะ’ (ว่าเรามีอะไรกัน) นั่นทำให้กฤตเริ่มตระหนักรู้ซึ้งถึง ‘ความไม่เที่ยง’ มากยิ่งขึ้น กฤตเริ่มเข้าถึงความจริงอะไรบางอย่าง การมีเซ็กส์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่ละครั้งที่ปราศจากความรักและเยื่อใยผูกพันกัน เหมือนกับคำที่หลวงตาพูดไว้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ยั่งยืน ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดมีดับไม่ต่างจากซากกวางที่เขาพบ
หนังยังพาเราไปร่วมค้นพบสัจธรรมของกฤตผ่านเรื่องราว ‘ไตรภูมิพระร่วง’ บนจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม ตั้งแต่ชั้น กามาวจรภูมิ ภพภูมิที่ยังข้องเกี่ยวด้วยกาม รูปาวจรภูมิ ภพภูมิของเทวดาที่ยังหลงใหลในของทิพย์สรวงสวรรค์ อรูปาวจรภูมิ ภพภูมิของพรหมที่ไร้ตัวตน ภาพเปรียบเทียบกฤตเดินเข้าไปในป่าลึกเพียงคนเดียวเพื่อค้นหาน้ำตกชั้นที่เจ็ด ตอนนี้วินได้หายตัวไปแล้วปล่อยให้กฤตเดินเข้าไปในป่าลึกเพียงลำพัง
และเมื่อกฤตขึ้นมาถึงน้ำตกชั้นสุดท้าย ‘น้ำตกผาช้างชั้นที่เจ็ด’ สิ่งที่กฤตคาดหวังว่าจะได้เห็น กลับกลายเป็นทางน้ำแห้งผากไม่มีน้ำไหลลงมาให้เห็นแม้แต่หยดเดียว มีเพียงต้นน้ำเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่สวยงามอะไร นั่นเองทำให้เขาเข้าใจถึงความไม่เที่ยง ไม่คาดหวังเป็นเจ้าของสิ่งใด และปล่อยวางอย่างเป็นอิสระในที่สุด ที่นั่นกฤตหยิบเอา ‘ดอกไม้แห่งความทรงจำที่มีต่อวิน’ ที่เขาเฝ้าเก็บดอกไม้ใบไม้หลากหลายชนิด (แม้แต่ปุยนุ่น) เอาเก็บใส่สมุดทับไว้ทุกครั้งที่เขาได้ไปไหนมาไหนกับวินจากนั้นก็โปรยมันลอยล่องไปกับสายน้ำ (ฉากนี้คงเป็นที่มาของชื่อเรื่อง) ถ้าใครเคยดู Little Buddha คงนึกถึงฉากโปรยเถ้าอังคารลามะดอเจในทะเลที่ให้ความรู้สึกถึงการพรัดพรากและความอนิจจัง หรือไม่ก็คงรู้สึกคล้าย ๆ กับความรักที่ไม่สมหวังของเตี๋ยอีที่มีให้กับเสี่ยวโหล่วใน Farewell to my concubine หรือนึกถึงตำรวจเกย์ที่ไม่ยอมรับตัวเองว่าเป็นเกย์ใน East Palace West Palace ‘ตามสายน้ำ’ อาจจะรวบรวมเอาความรู้สึกของหนังเกย์หลายเรื่องมารวมกันไว้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้คิดถึงหนังพุทธทิเบตบางเรื่องได้ด้วย
กฤตสามารถยอมรับความรักที่ไม่สมหวังได้ในที่สุด กฤตไม่ได้โหยหาความรักที่นิรันดรสมบูรณ์แบบอีกต่อไป เขายังอุตส่าห์พับกระทงมาเผื่อวินในฉากสุดท้าย วินถามกฤตว่าอธิษฐานอะไร กฤตตอบว่า ‘เปล่าหรอก ฉันไม่ได้อธิษฐานอะไรเลย’ โดยมีผู้หญิงอีกคนนั่งลอยกระทงเคียงข้างวิน
บทจบของหนังเรื่องนี้ถึงจะเป็นความรักที่ไม่สมหวังแต่ก็น่าจะดีกว่าหนังเกย์หลาย ๆ เรื่องที่ผ่านมาที่บทสรุปของหนังเกย์มักจะเป็นโศกนาฏกรรม ไม่เกย์ฆ่าตัวตายก็คงเป็นบ้าเป็นหลังด้วยโรคจิตโรคประสาท ตัวละครกฤตอาจจะโชคดีที่สามารถเข้าถึงสัจธรรม โดยใช้ความรักที่ไม่สมหวังเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ เป็นการเข้าถึงอำนาจภายในที่ไปพ้นจากการตกเป็นเหยื่อ หรือเข้าถึงการบรรลุธรรม (Enlighten-ment) ตามคติทางพุทธศาสนา ในขณะที่ตัวละคร
วินก็คงอยู่กับการปิดบังซ่อนเร้นตนเองทนอยู่กับการไม่พอใจตนเองที่รักเพศเดียวกัน (Homophobia) อีกต่อไป (ตกเป็นเหยื่อของอคติทางสังคม) แต่ความรักที่ไม่สมหวังในหนังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่อธิบายได้ว่า เพราะเป็นความรักที่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าฝ่ายหนึ่งยังไม่สามารถยอมรับใน sexuality (ระบบความคิดความหมายเรื่องเพศ) ของตัวเองได้ ความรักจึงไปไม่ถึงดวงดาว
อะไรทำให้เกย์อย่างวินยอมรับตัวเองไม่ได้ ถ้าให้ตอบตรงนี้ก็คือเป็นเรื่องของกรอบวิธีคิดทางสังคม ที่นอกจากจะมีท่าทีรังเกียจเกย์แล้วยังส่งผลให้เกย์จำนวนหนึ่งรู้สึกรังเกียจตัวเองไปด้วย วินก็คงเป็นหนึ่งในเกย์อีกจำนวนหลายคนที่ต้องคอยปกป้องตนเอง ด้วยการเสแสร้งแกล้งแมนต่าง ๆ นานา หรือแม้แต่คำให้สัมภาษณ์ของผู้ที่แสดงเป็นวิน (ณพงษ์ วิริยะสมบูรณ์) ก็ให้สัมภาษณ์ถึงฉากเลิฟซีนที่แสดงกับ ประกาศิต หอวรรณภากร (กฤต) ว่าพยายามถ่ายเทคเดียวผ่านไม่อยากถ่ายหลายเทค แม้การรับบทเป็นเกย์แอบของ ณพงษ์ เองก็ยังต้องต่อสู้กับอคติอะไรหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับเกย์ทั้งจากภายนอกและภายในตนเอง อย่างที่เขาให้สัมภาษณ์เบื้องหลังการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ในท้ายแผ่น VCD
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าเวลาที่ผู้คนเข้าไปข้องแวะกับอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเกย์ เกย์ เกย์ คนจะเริ่มรู้สึกถึงความไม่สบายเนื้อสบายตัวบางอย่าง ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเกย์หรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่สามารถนำมาอธิบายต่อได้ว่า ทำไมเกย์คนหนึ่งถึงไม่ได้รู้สึกดีไปกับความเป็นเกย์ของตนเอง นั่นเป็นเพราะจิตสำนึกร่วมของสังคม (collective conciousness) คิดและรู้สึกไม่ดีกับเกย์ไปแล้ว เกย์เองก็รับเอาจิตสำนึกร่วมของสังคมนั้นมามีอคติกับตัวเองซ้อนเข้าไปอีกที จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมเกย์อย่างวินจึงยอมรับตัวเองไม่ได้
สิ่งที่คู่รักเกย์ต้องทำมากและอาจจะมากกว่าคู่รักต่างเพศก็คือ การที่ต่างฝ่ายต่างต้องคอยหันมาดูแลฟูมฟักเอาใจใส่พัฒนาการการยอมรับ ตัวตนของความเป็นเกย์ ในคู่ของตนให้มีการเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กันกับความรักที่มีให้กันซึ่งอาศัยการทำบุญที่วัดอย่างเดียวคงไม่พอ คู่รักเพศเดียวกันน่าจะภาคภูมิใจในความรักของตัวเองมาก ๆ ที่¸ªามารถนำพาความรักของตนฝ่าฟันอุปสรรค ที่มากกว่าคู่รักต่างเพศหลายเท่าตัวออกมาได้
สำหรับคู่ของกฤตกับวินเห็นได้ว่า กฤตเองก็พยายามเอาใจใส่และทำทุกวิถีทางให้วินได้เปิดโอกาสยอมรับตัวเองเช่นกัน ยกตัวอย่างตอนที่กฤตเจอวินในบาร์แล้วถามถึงแฟนที่เลิกกัน กฤตถามว่ารักแฟนเก่าที่เลิกกันไหม คำถามนี้เล่นเอาวินบ่ายเบี่ยงที่จะตอบและรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม กฤตถามวินว่ารู้สึกเบื่อบ้างไหมที่มา (หาผู้หญิงใน) บาร์แบบนี้ วินคล้าย ๆ จะเริ่มเห็นตัวเองก็ตอบว่า ‘เบื่อ..แต่ก็โอ.เค.’ หรือตอนที่กฤตไปหาวินที่ห้องแล้วพบว่า วินนอนกับหญิงบริการ จึงถามว่าทำตามใจอยากแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง วินไม่ได้ตอบอะไรได้แต่ยืนนิ่ง ๆ เท่านี้เราก็เห็นแล้วว่า ในที่สุดวินก็ไม่สามารถทะลุกำแพงอคติในความเป็นเกย์ของตนเองออกมาได้ อีกมุมหนึ่งเราจะสังเกตเห็นว่ากฤตรู้อยู่ตลอดเวลาว่าวินเป็น ‘ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย’ และเฝ้าหวังถึงการยอมรับตัวเองของวินตลอดมา รวมทั้งเฝ้ารอการยอมรับความรักที่เขามีให้กับวินด้วยแต่ในที่สุดก็ไร้ผล
อย่างน้อย ‘ตามสายน้ำ’ ก็พยายามโต้ตอบกับสังคมที่ยังมีวาทกรรมเรื่อง ‘รักของเกย์ไม่ยั่งยืน’ โดยอาศัยปรัชญาทางพุทธมาเชื่อมโยงตีความนำเสนออีกแง่มุมหนึ่ง แต่อีกมุมหนึ่งเราจะเห็นว่าหนังก็มีการตั้งคำถามอยู่บ้างเหมือนกันว่า ภายใต้รักของเกย์ที่ไม่ยั่งยืนนั้นเพราะอะไร ? เพราะเกย์ไม่สามารถยอมรับตัวเองใช่หรือไม่ ? แล้วมีอะไรทำให้เกย์ไม่สามารถยอมรับตัวเองได้ ? ใช่หรือไม่ว่าสังคมที่เป็นโฮโมโฟเบียเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้รักของเกย์ไม่ยั่งยืน ?
การนำเอาปรัชญาทางพุทธมาเชื่อมโยงกับความเป็นเกย์ในหนังสั้นเรื่องนี้ นับว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะต้องเอาธีม (Theme) สองธีมมาผสมผสานกันระหว่างปรัชญาพุทธกับความรักของเกย์ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะการนำสองส่วนนี้มานำเสนอให้เกิดความสมดุลย์ และร่วมสมัยซึ่งหนังเรื่องนี้สอบผ่านอย่างน่าชื่นชม ทั้งมุมกล้องที่พยายามตามไปเก็บภาพสถานที่และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ในเมืองไทยมารวมเข้าไว้ในหนังเรื่องนี้ ฉากเลิฟซีนระหว่างผู้ชายกับผู้ชายที่คนทำหนังไทยหลายคน ยังคงปฏิเสธไม่กล้าทำออกมาด้วยเหตุผลร้อยแปดพันประการ
บางทีเราอาจจะเข้าใจเกย์ ยอมรับความรักของเกย์พร้อมกับบรรลุธรรมไปด้วย ภายหลังดูหนังเกย์พุทธเรื่องนี้จบลง..



เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๔
เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๘

เมื่อผู้หญิงถูกข่มขืนในเมืองพุทธ


พระชาย วรธมฺโม - [ 19 ธ.ค. 46, 18:09 น. ]

เวลาที่เรา เปิดดูหนังสือพิมพ์ตอนเช้า ๆ ภายในหนึ่งเดือน อย่างน้อยที่สุดข่าวที่เราต้องพบเจออย่างไม่ต้องสงสัยเลย ก็คือ ข่าวการข่มขืนกระทำชำเรา ผู้หญิงหลาย ๆ คน เมื่อเจอข่าวลักษณะนี้บ่อย ๆ เข้าอาจจะรู้สึกว่ากลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาเช่นเดียวกับข่าวอาชญากรรมอื่น ๆ แต่การที่มีข่าว การข่มขืน กระทำชำเราผู้หญิงเดือนละหนึ่งครั้งก็ไม่ได้ แปลว่า มีการข่มขืนผู้หญิงเดือนละหนึ่งคนอย่างที่เข้าใจ เพราะเป็นไปได้ว่าต้องมีจำนวนผู้หญิง ที่ถูกข่มขืน มากกว่านี้ เพียงแต่ไม่ได้เกิดเป็นข่าวขึ้นเท่านั้นเอง
เรื่องราวของผู้หญิง..ที่ถูกข่มขืนคงไม่ได้มีเฉพาะ พ.ศ. 2546 นี้เท่านั้น แต่เคยมีมานานแล้วในสมัยพุทธกาล ดังเรื่องของภิกษุณีอรหันต์ นามอุบลวรรณา ผู้ถูกมาณพหนุ่มข่มขืน แต่ในที่สุดบาปกรรมก็ตามทันเมื่อเสร็จกิจจากการกระทำชำเรามาณพหนุ่มคนนั้นก็ถูกแผ่นดินสูบลงสู่อเวจีในทันทีทันใด
หากการถูกข่มขืนของผู้หญิง พ.ศ. นี้คงไม่อาจรอบาปกรรมลงโทษผู้กระทำผิดได้เหมือนสมัยก่อนเพราะยิ่งปล่อย ให้ผู้ข่มขืนลอยนวลเท่าใดความรุนแรง ต่อ ผู้หญิงก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดน้อยลง ฟ้าดินก็ไม่ยอมลงโทษให้เห็นทันตาแต่กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อพบว่า ด.ญ.วัย 15 ถูกข่มขืนโดยชายในเครือญาติ 14 คน หรือเมื่อเราพบว่าวัยของหญิงที่ถูกข่มขืนเริ่มมีอายุลดน้อยลง ล่าสุด แม้อายุเพียง 7 เดือนก็ยังถูกข่มขืนกระทำชำเรา สิ่งที่ผู้หญิง พ.ศ. นี้ต้องออกมา กระทำการคือการพึ่งพาขบวนการยุติธรรม การรอให้แผ่นดินสูบผู้กระทำผิดคงจะไม่ทันการ แต่การที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาเป็น โจทก์ฟ้องฝ่ายที่ข่มขืน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ราบรื่นนัก ดังกรณีของหญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนบนรถไฟที่ซึ่งหลาย ๆ คนมักจะคิดว่าการถูกข่มขืนต้องเกิดในสถานที่เปลี่ยว ๆ ปราศจากผู้คน กรณีนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผู้หญิงมีโอกาสถูกข่มขืนได้ทุกที่ไม่เว้นแม้แต่บนรถไฟที่เต็มไปด้วยผู้คน
การต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ของหญิงคนดังกล่าว ยังต้องต่อสู้กับการบากหน้าไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นเพศชายที่ตนเพิ่งถูกกระทำชำเรามาหยก ๆ และ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการแบล็กเมล์ เพราะการแจ้งความว่าถูกข่มขืนนั้นออกจะเป็นประเด็นที่สลับซับซ้อน เพราะเป็นเรื่องของการทำร้าย ร่างกายภายใต้อวัยวะที่ปิดมิด ซึ่งต้องอาศัยวิธีการตรวจหลักฐานที่ละเอียดซับซ้อน และไม่ค่อยมีใครกล้ามาแจ้งความลักษณะนี้ ผิดกับคดีความประเภทอื่น ๆ
นอกจากนั้นเธอ (ผู้ถูกข่มขืน) ก็ยังต้องเผชิญกับการตรวจร่างกาย หากร่างกายปราศจากรอยขีดข่วน ฟกช้ำดำเขียว ก็ยิ่งยากจะเชื่อว่าเป็นการข่มขืนจริง เพราะ เรามักจะคิดกันว่า การข่มขืนต้องมีรอยฟกช้ำดำเขียวอันเกิดจากการต่อสู้ให้เห็น ไหนเธอ (ผู้ถูกข่มขืน) จะต้อเงสี่ยงกับการเผชิญกับการปฏิบัติที่ปราศจาก ความกรุณาจากเจ้าหน้าที่อีกเล่า
นอกจากนี้ (ผู้ถูกข่มขืน) ก็ยังต้องเผชิญกับการ ..ว่าความกัน.. ในชั้นศาล ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องราวโดยละเอียดของเหตุการณ์ต้อง ถูกนำมาสอบสวนกัน ใหม่ตั้งแต่ก่อนวันขึ้นศาลไปจนถึงวันขึ้นศาล นี่เองที่ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในคดีข่มขืนหลายรายต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าตนไม่ได้ถูกข่มขืนแค่ครั้งเดียวหากกระบวนการยุติธรรมกำลังข่มขืนเธออีกหนึ่งต่อ…อย่างนับครั้งไม่ได้..
การถูกข่มขืน (ทางจิตใจ) ในขั้นตอนหรือกระบวนทางกฏหมายคงไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากจะประสบนัก เพราะเรื่องราวการถูกกระทำของเธอ ที่เป็นส่วนตัวต้อง ถูกนำมาเปิดเผยในที่สาธารณะ ถึงแม้พวกเธอจะเลือกวิธีการนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตาม เราจึงได้เห็นความสะเทือน อารมณ์บ่อยครั้งของโจทก์หลายราย เมื่อมีการว่าความกันในชั้นศาล
ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ถูกข่มขืนที่คาดว่า จะยุติลงอย่างง่สยดายและควรได้รับความยุติธรรมเมื่อเธอออกมาเปิดเผยว่าถูกข่มขืนพร้อม ๆ ไปกับกระบวนการทาง กฏหมายที่คิดว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดการข่มขืนทางจิตใจซ้ำสองซ้อสามก็กลับกลายเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม ..
ซ้ำร้ายเมื่อมีการวิเคราะห์ไปถึงสาเหตุของการถูกข่มขืนว่ามาจากการแต่งตัวโป๊ หรือไปไหนมาไหนคนเดียว เหล่านี้ ล้วนเป็นอคติที่สร้างความเจ็บปวด ให้กับหญิงที่ถูกข่มขืนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะโดยความเป็นจริงผู้หญิงที่ถูกข่มขืนก็ไม่ได้แต่งตัวโป๊เสมอไป การไปไหนมาไหนคนเดียวก็เป็นประเด็นที่น่าคิด เพราะกรณีของ ด.ญ. วัย 15 ถูกข่มขืนโดยเครือญาติ 14 คน หรือกรณีพ่อข่มขืนลูกก็แสดงให้เห็นแล้วว่า.. แม้ไม่ได้อยู่เพียงลำพังคนเดียว แต่อยู่บ้าน (ที่ซึ่งคิดว่าน่าจะปลอดภัยที่สุด) ก็ยังถูกข่มขืนได้ โดยคนใกล้ชิด..เป็นพ่อของตนเองแท้ ๆ
การค้นหาสาเหตุของการถูกข่มขืนโดยเอาผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของสาเหตุบางทีก็อาจจะทำให้เราเห็นอะไรที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง แต่สิ่งที่น่าแปลก และมหัศจรรย์ไปกว่านั้น ก็คือ กฏหมายไทยเองก็เปิดโอกาสให้ชายไทยข่มขืนภรรยาตัวเองได้อย่างเต็มที่ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดความรุนแรงต่อ ผู้หญิง ในสังคมไทยซึ่ง เป็นสังคมพุทธจึงไม่ยอมยุติลงสักที..
ขณะที่ระดับความรุนแรง...และการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกขณะ และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เช่นนี้..ในเวลาเดียวกัน ภาพ ลักษณ์ของประเทศไทยก็เป็นเมืองพุทธที่นานาประเทศต่างก็ชื่นชมอยากมาท่องเที่ยวผ่านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ออกสู่ระดับสากล ที่คนไทย หลายคนภูมิใจไปกับอัตลักษณ์อันนี้ จึงออกจะเป็นภาพที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง รวมทั้ง เป็นอะไรที่ไม่น่าภาคภูมใจเอาเสียเลย..

ข้อมูลเปรียบเทียบ*ชายจำนวน 9 คน รุมข่มขืนหญิงสาว 1 คน เดลินิวส์ 1 มิ.ย. 2546*ชายจำนวน 11 คน รุมข่มขืนหญิงสาว 2 คน เดลินิวส์ 9 มิ.ย. 2546*ด.ญ. วัย 1 ขวบ ถูกเด็กชายวัย 15 ปี ข่มขืน คมชัดลึก 31 ก.ค. 2546*เด็กหญิงวัย 15 ปี ถูกชายในเครือญาติ 14 คน ข่มขืน รายการที่นี่ประเทศไทย ช่อง 5 ออกอากาศ 6 ส.ค. 2546*ผู้ชาย 15 คน รุมข่มขืนหญิงสาว 2 คน ไทยรัฐ 31 ส.ค. 2546*ผู้ชาย 14 คน รุมข่มขืนหญิงสาว 1 คน เดลินิวส์ 19 ต.ค. 2546*ผู้ชาย 5 คน รุมข่มขืนหญิงสาว 1 คน ไทยรัฐ 14 พ.ย. 2546*เด็กหญิงวัย 1 ปี ถูกผู้ชายข่มขืน คมชัดลึก 22 พ.ย. 2546*ผู้ชาย 4 คน รุมข่มขืนหญิง 1 คน เดลินิวส์ 25 พ.ย. 254



ThaiNGO

มะเร็ง ความเศร้า ความสุขและความสงบ



ยังจำได้ดีถึงคำพูดของ อาจารย์เซ็น โจน ฮาลิแฟกซ์ ที่พูดถึง ภาวะใกล้ตายของมนุษย์ไว้ว่า “คนใกล้ตาย ถูกผลักให้ไปอยู่ในกลุ่มของ คนชายขอบ ในสังคม เพราะคนหนุ่มสาวที่ยังมีสุขภาพดี ไม่ได้มองความตายด้วยความเคารพ พวกเขาไม่ได้มองความตาย หรือภาวะใกล้ตาย ว่าเป็นโอกาสสำคัญของการมีอิสรภาพ แต่ทุกคนกลับมองดูความตาย หรือภาวะใกล้ตาย ว่าเป็นภาวะแห่งความล้มเหลว เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว นั่นจึงเป็นสาเหตุให้คนใกล้ตาย ถูกเลือกปฏิบัติอย่างซับซ้อนลงไป อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ดังนั้น กิจกรรมแรกของการอบรมผู้ป่วยมะเร็ง ในโครงการพัฒนาตนเองตามแนวพุทธ ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เราจึงจัดให้ ผู้ป่วยจับคู่เล่าประสบการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ทั้งสภาพความรู้สึก จิตใจด้านในมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะการรับรู้ว่าเป็นมะเร็งนั้น เป็นเหมือนกับประกาศิตจากชะตากรรมว่า เราจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน นั่นทำให้ประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขามิได้ถูกมองข้ามไป เหมือนอย่างที่คนอื่นพยายามกลบเกลื่อน
เมื่อผลัดกันเล่าจนจบ จอห์น แมคคอแนล วิทยากรชาวอังกฤษผู้ร่วมงานของเราอีกคนสรุปให้ฟัง (โดยมีคุณสุรภี ชูตระกูล เป็นผู้แปล) ว่า ความทุกข์ยากจากการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งนั้น เปรียบเหมือนเรากำลังถูกลูกศรแทงลงบนร่างกายพร้อม ๆ กันทีเดียวสองลูก ลูกศรลูกที่หนึ่ง คือ ความทุกข์จากความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากโรคมะเร็งเอง ส่วนลูกศรลูกที่สอง คือ ความทุกข์ใจอันเนื่องมาจากความวิตกกังวลต่อโรคร้ายนี้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์บอกให้เราดูแลแค่เพียงลูกดอกลูกแรกเท่านั้น แต่วิธีการทางพุทธบอกกับเราว่าเราต้องดูแลลูกศรทั้งสองลูก และเมื่อเราถูกลูกศรปักทีเดียวพร้อมกันสองลูก เราไม่สามารถดึงออกมาทีเดียวพร้อมกันทั้งสองลูกได้ แต่เราต้องพินิจพิเคราะห์แล้วดึงมันออกมาทีละลูก
จากประสบการณ์ของจอห์นบอกว่า วิธีการเยียวยาประการแรกคือต้องสร้างจินตภาพ (visualization) ที่ดีต่อโรคภัยไข้เจ็บของเราเสียก่อน นั่นคือให้ผู้ป่วยวาดภาพอวัยวะหรือส่วนของร่างกายที่บาดเจ็บ ที่เราคาดหวังให้อยู่ในสภาพที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ไปจนถึงดีที่สุด จะวาดให้เป็นสัญลักษณ์หรือวาดจากลักษณะที่ปรากฏอยู่ก็ได้ แล้วให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีให้เห็นเป็นภาพจินตนาการในใจ
ภาพที่แต่ละคนวาดออกมาบนกระดาษ จึงเป็นบันไดขั้นแรก ของการฝึกมโนภาพ หรือจินตภาพ เกี่ยวกับมะเร็ง ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากนั้นเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยจินตภาพให้เนื้อร้ายนั้นค่อย ๆ จางหายไปผ่านการทำสมาธิ นี่เรียกว่ากำลังฝึกมโนมยิทธิตามแนวพุทธจริง ๆ ซึ่งดูออกจะง่ายเกินไป แต่ขอบอกว่าวิธีการนี้มีผลต่อกำลังใจผู้ป่วยไม่น้อย เช่นเดียวกับการสวดมนต์ในตอนเย็นที่ช่วยให้คนป่วยรู้สึกสงบไปกับการสวดมนต์มากขึ้น
การเยียวยาในเวลาถัดมาก็คือให้คนป่วยทบทวนตัวเองเกี่ยวกับ โลภ โกรธ หลง ผ่านโรคภัยไข้เจ็บของตนเองว่า แท้จริงแล้วความอยากหายก็คือภาพปรากฏของ ‘ตัวโลภ’ นั่นเอง เมื่อเราพบว่าอาการของโรคเลวร้ายลง เราก็เริ่มวิตกกังวลไปจนถึงโมโหตัวเองแล้วโทษตัวเองในที่สุดนั่นก็คือ ‘โทสะ’ ที่แปรหน้าตาตัวเองไปในรูปแบบอารมณ์อื่น ๆ ด้วยอาการหมุนวนอยู่กับอารมณ์และทุกข์โศกภายในใจเช่นนี้ก็คือ ‘โมหะ’ ที่ละเอียดอ่อนซึ่งคอยเคลือบจิตของเราอย่างแนบเนียน มิให้หลุดพ้นออกมาจากความทุกข์ใจนี้ได้ ซึ่งนี่แหละคือ โลภ โกรธ หลง ที่แฝงตัวอยู่ในคนป่วยทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ป่วยก็มีกิเลสสามตัวนี้อยู่ เพียงแต่หน้าตาอาจจะเปลี่ยนไปตามสันฐาน บุคลิกและสุขภาพของบุคคล ถึงตรงนี้คนป่วยหลายคนเริ่มรู้จักและค้นพบตัวเองมากขึ้น นั่นเองที่การทำจิตให้สงบผ่านการทำสมาธิภาวนาเป็นหนทางในการเยียวยาขั้นถัดมา
ช่วงบ่ายของทุกวันเราวิทยากรสามคนจะว่างเพราะคนป่วย ต้องเข้ารับการฉายแสงไปจนถึง ๕ โมงเย็น ช่วงนี้เราจึงปลีกเวลาไปเยี่ยมคนป่วยระยะสุดท้ายที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกตึกหนึ่ง บางคนยังพอมีสติสตังพูดคุยรู้เรื่องบ้าง แต่บางคน (หรือหลายคน) ต่างก็ตกอยู่ในอาการขั้นสุดท้ายจริง ๆ คือตาเหม่อลอย พูดไม่ได้ ร้องไห้ครวญครางไม่เป็นภาษา มีคนไข้ชายคนหนึ่งนอกจากจะมีอาการดังกล่าวแล้ว มือที่เราสัมผัสก็ยังเย็นเฉียบเหมือนกับแช่อยู่ในตู้เย็น วันรุ่งขึ้นเราไปเยี่ยมอีกครั้งถึงได้รู้ว่าเขาเสียชีวิตไปตอน ๓ ทุ่มของเมื่อคืน ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่านั่นเป็นอีกลักษณะของภาวะใกล้ตาย…
กิจกรรมสุดท้ายของการอบรมเรายังคงใช้วิธีการของโจน ฮาลิแฟกซ์ คือ ให้ผู้ป่วยนอนราบไปกับพื้น ดับไฟให้มืด แล้วให้คนป่วยจินตนาการว่าหากเหลือเวลาอีกเพียง ๑๐ วันที่จะมีชีวิตอยู่จะทำอะไรเป็นอย่างแรก อย่างที่สองและสาม จากนั้นให้ตอบคำถามว่าสถานที่ที่เราจะเสียชีวิตนั้นคือที่ไหน บริเวณนั้นมีรายละเอียดอย่างไร… เวลาที่เราจะเสียชีวิตคือเวลาไหนใน ๒๔ ชั่วโมงของวัน…มีใครอยู่ใกล้ ๆ เราบ้างเมื่อเรากำลังจะสิ้นชีวิต…และในที่สุดวาระสุดท้ายของชีวิตที่กำลังจะมาถึงจริง ๆ เราจะจินตนาการให้ตัวเราหมดลมหายใจไปในลักษณะอาการอย่างไร… กิจกรรมนี้ทำเอาหลายคนค้นหาคำตอบให้กับตัวเองอยู่นาน เพราะเป็นคำถามที่แต่ละคนต่างไม่เคยเจอมาก่อน และดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ท้าทายไม่ใช่น้อย เพราะเป็นเรื่องราวของความตายที่เลือกได้ หากแต่น่าสนใจตรงคำตอบที่คล้าย ๆ กันจากสองคำถามว่าจะเลือกตายสถานที่ใด หลายคนเลือกที่จะตายที่บ้าน นั่นเพร³»าะบ้านเป็นสถานที่ที่เราคุ้นเคยและเติบโตมาแต่เด็ก ๆ ซึ่งเราต่างมีความผูกพันอยู่ ส่วนอีกคำตอบว่าด้วยวาระสุดท้ายของชีวิตที่ให้เลือกว่า จะจากโลกนี้ไปอย่างไร ถ้าไม่ใช่การนอนหลับอย่างสงบนั่นเพราะขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น แต่ละคนเจ็บปวดมามากพอแล้ว…
ในที่สุดรายการอบรม ๓ วันในโรงพยาบาลก็จบลงด้วยดี ผ่านคราบน้ำตาที่ซาบซึ้งจากผู้ป่วยอันเนื่องมาจากความอบอุ่นที่ได้รับระหว่างอบรม บางทีความเจ็บป่วยที่ร้ายแรงก็มิได้นำพามาซึ่งความโศกเศร้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีความสุข… ความสงบ… และความจริงที่คอยหมุนเวียนเข้ามา และเราจะพบว่าโลกไม่ได้มีแค่ด้านเดียว เหมือนกับที่โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่ได้มีแต่ความทุกข์เท่านั้น แต่ยังมีด้านอื่น ๆ ให้ได้ค้นหาอีกมากมาย ..



พระชาย วรธมฺโม
เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๖

เกย์ – เลสเบี้ยน วิบากกรรมของใคร



เรื่องของคนรักเพศเดียวกันหรือที่เรียกกันว่า โฮโมเซ็กช่วล (ขออภัยที่ใช้คำฝรั่ง) มักมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์โบราณทางศาสนาทุกศาสนา แม้ในพุทธศาสนาของเราเองก็ยังมีปรากฏให้เห็น นั่นเป็นที่แน่ใจได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า พฤติกรรมรักเพศเดียวกันของมนุษย์ มีมาช้านานนับเป็นพัน ๆ ปีแล้ว หรือไม่ก็ยาวนานพอ ๆ กับที่เริ่มมีมนุษย์ผู้ชาย–ผู้หญิงคู่แรกเกิดขึ้นมาบนโลกนี้

ในเมื่อปรากฏตามหลักฐานแล้วว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของมนุษย์ มีมาช้านานนับเป็นพันปีเช่นนี้ ก็น่าที่จะเข้าใจได้ระดับหนึ่งว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่บรรยากาศของสังคมเท่าที่เป็นไปก็ไม่ได้มองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างที่เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าค้นคว้าหาคำตอบจากพุทธศาสนาว่าพุทธศาสนามองเรื่องนี้อย่างไร ก็มักจะได้คำตอบลาง ๆ ว่าเป็น “กรรม”
ผู้เขียนเองในฐานะที่มีวิถีชีวิตอยู่ในร่มเงาของพุทธศาสนามานาน ต้องขอบอกตามตรงว่าจริง ๆ แล้วตนเองก็ยังไม่เคยพบสักทีว่าตรงไหนแน่ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เกิดมาเป็นคนรักเพศเดียวกันแล้วเป็นกรรม ตรงนี้เข้าใจว่าคงเป็นอรรถกถา (เนื้อความขยายความหมาย) ซึ่งเขียนโดยอรรถกถาจารย์รุ่นต่อ ๆ มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการตีความกันเอาเองของนักบวชรุ่นหลัง ๆ ซึ่งอาศัยหลักธรรมเรื่อง “กรรม ๑๒” มาเป็นมาตราวัดว่าใครเกิดมาเป็นอะไรแล้วเป็นกรรม ซึ่งตรงนี้นอกจากคนที่เป็นเกย์ (ชายรักชาย) เลสเบี้ยน (หญิงรักหญิง) จะรับไปเต็ม ๆ แล้ว พวกบัณเฑาะก์และกะเทยดูจะรับไปมากที่สุด อันนี้ยังไม่นับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างอื่น ๆ อีกมากแบบซึ่งไม่พ้นที่จะต้องถูกเหมารวมว่าเป็นกรรมไปด้วย
การที่มีการวิเคราะห์ว่าเกิดมาเป็นคนรักเพศเดียวกันแล้วเป็นกรรมนั้น เข้าใจว่าคงเนื่องมาจากมีการตั้งข้อสังเกตหลายประการว่า เป็นบุคคลที่ไม่เหมือนคนอื่น (เวลาที่คนเราเกิดมาไม่เหมือนคนอื่นมักถูกบอกว่าเป็นกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการก็ถูกสังคมตัดสินไปไม่น้อยเช่นกัน) เมื่อไม่เหมือนคนอื่นสังคมก็ไม่ยอมรับ เมื่อสังคมไม่ยอมรับ สังคมก็มีคำพูดส่อเสียดล้อเลียนให้ร้ายต่างๆ นานา ก่อให้เกิดความกดดันเป็นสภาวะที่เป็นทุกข์ ภายในใจต่าง ๆ นานาหลายประการ สรุปแล้วเกิดเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นกรรม โดยยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยลงลึกไปถึงตัวตนจริง ๆ ของกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันว่าพวกเขามีวิถีชีวิตอย่างไร มีความทุกข์จริงหรือไม่ ควรจะถูกจัดว่าเป็นชีวิตที่เกิดมามีกรรมอย่างที่เขาว่ากันอย่างนั้นหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันที่มีการยอมรับความแตกต่างของบุคคลกันมากขึ้น
อันที่จริงการจะวิเคราะห์ว่าใครเกิดมาเป็นอะไรแล้วเป็นกรรมหรือไม่นั้น มีหลักวิเคราะห์อยู่ว่าเจตจำนงหรือทัศนคติของบุคคลคนนั้นเป็นอย่างไร อย่างเช่นคนยากจนเราว่าเขาเป็นคนมีกรรมเพราะเกิดมายากจน ความที่เรามีทัศนคติว่าเกิดเป็นคนจนนั้นลำบากในขณะที่เกิดมาเป็นคนรวยแล้วสุขสบาย เราจึงตัดสินว่าเขาเกิดมามีกรรมเพราะเกิดมาจน โดยเรายังไม่ได้วิเคราะห์ว่าเขาเกลียดหรือเป็นทุกข์กับสภาพความยากจนของเขาเองหรือไม่ เพราะคนยากจนหลายคนก็ไม่ได้เป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับสภาพความจนยากที่เขาเป็นอยู่ ตรงกันข้ามคนจนบางคนกลับรู้สึกปรกติดีกับวิถีชีวิตที่ตนเองเป็นไป ผิดกับคนรวยบางคนที่อยู่ร้อนนอนทุกข์เพราะเป็นห่วงสมบัติบ้า อย่างนี้จะไปบอกว่าเกิดเป็นคนจนมีกรรมก็คงไม่ถูกนัก
เช่นเดียวกับชายรักชาย-หญิงรักหญิง กะเทย ทอม เกย์ดี้ รวมไปถึงบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งดูพวกเขาก็มีความสุขดีกับวิถีชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันหลายคู่พบว่าพวกเขามีความสุขดีกับการครองรักในเพศเดียวกัน และก็ดูจะมีความปรกติสุขกว่าคู่รักต่างเพศหลายคู่ที่เอาแต่ทะเลาะวิวาทหย่าร้างนอกใจกันทุกวี่วัน (ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๕ ก.ค. ๔๔ เพิ่งลงข่าวว่าคู่สมรสไทยจดทะเบียนหย่ากันปีละ ๖ หมื่นคู่ ช่างเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย) หนำซ้ำยังให้กำเนิดลูกออกมา-สร้างปัญหากับจิตใจให้เด็กด้วยเหตุพ่อแม่แยกทางกันอีก อย่างนี้คงต้องทบทวนกันใหม่เสียแล้วว่าใครกันแน่ที่เกิดมามีกรรม
ในฐานะที่การตีความหัวข้อธรรมในศาสนาให้เข้ากับยุคสมัยก็จัดเป็น “เสขิยธรรม” หรือ “ธรรมที่ควรศึกษา” ประการหนึ่ง ผู้เขียนจึงอยากเสนอมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องกรรมต่อบุคคลที่รักเพศเดียวกัน เพื่อให้ชาวพุทธได้ช่วยกันคิดและขยายฐานความเข้าใจเรื่องกรรมต่อประเด็นนี้ไว้ ๓ ประการ
ประการแรก เกิดเป็นกะเทย ทอม เกย์ ดี้ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างอื่น ๆ ไม่ได้เป็นกรรม ด้วยถ้าพูดว่าเป็นกรรมแล้ว การเกิดเป็นเพศไหนก็เป็นกรรมทั้งสิ้น เพราะคนทุกคนที่เกิดมาล้วนมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เหมือน ๆ กันทุกคน กรรมไม่เลือกเพศว่าเกิดเป็นชายเอากรรมไปน้อย ๆ ส่วนพวกที่เกิดมาเป็นผู้หญิง กะเทย ทอม เกย์ ดี้ พวกนี้เอากรรมไปมาก ๆ กรรมคงไม่แบ่งเช่นนั้น แต่ที่เราเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น นั่นคงมีสาเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติ – การกดขี่ – การกระทำรุนแรง – การใช้คำสบประมาท และความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้มากกว่านั่นเอง ปัจจุบันนี้สังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การเรียนรู้เรื่องการยุติความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การยุติการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง” สมควรอย่างยิ่งที่ชาวพุทธเราควรจะทำความเข้าใจในประเด็น เรื่องยุติการกระทำรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์กันให้มาก มากกว่าการนำเอาอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง มากล่าวหากันด้วยวาทะเรื่องกรรม ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อการให้ความเคารพในความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว การตัดสินว่าใครเกิดมามีกรรมทำให้เรามองข้ามความเป็นมนุษย์ในด้านอื่น ๆ ที่เขามี และยังเป็นการมองข้าม “โอกาสในการบรรลุธรรม” ของบุคคลไปด้วย
ประการที่สอง เป็นกรรมของสังคม “กรรม” ในความหมายของการกระทำร่วมกันของคนกลุ่มใหญ่ ที่กระทำต่อคนกลุ่มน้อย อันก่อให้เกิดบาป ๓ ด้านด้วยกัน คือ
ด้านกายกรรม คือการที่สังคมเลือกปฏิบัติ ได้แก่การเลือกไม่รับเข้าทำงานเพียงเพราะเห็นว่ามีบุคลิกภาพที่ดูออกว่าอาจเป็นบุคคลที่รักเพศเดียวกัน หรือในเรื่องสิทธิอันชอบธรรมอื่น ๆ ที่บุคคลเหล่านี้จะไม่ได้รับการปฏิบัติเช่นบุคคลทั่วไป ในต่างประเทศการเลือกปฏิบัติมีความรุนแรงมากถึงกับมีการทำลายทรัพย์สินของคนที่รักเพศเดียวกัน เช่น กรีดรถ เผาบ้าน ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายด้วยการทุบตี อาจจะด้วยความรังเกียจหรืออคติใด ๆ ก็ตาม นับเป็น “การทำบาปทางกาย” ที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง
ด้านวจีกรรม คือการ-ที่สังคมใช้ถ้อยคำสบประมาท เยาะเย้ยถากถางถึงพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของบุคคล เพื่อหวังให้บุคคลเกิดความอับอาย ทั้งในที่ส่วนตัวและที่สาธารณะ หรือการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจผิดต่าง ๆ ว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นพวกวิปริต ผิดปรกติ ไม่สบาย มีอารมณ์รุนแรง (ปัจจุบันสถาบันจิตเวชและจิตศาสตร์ในต่างประเทศรวมทั้งกรมสุขภาพจิตของไทยต่างก็สรุปแล้วว่า การรักเพศเดียวกันของบุคคล ไม่ได้เป็นอาการป่วยทางจิตอย่างที่เข้าใจ) ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นเป็นเพียงอคติที่ถูกสร้างขึ้น และก่อความเดือดร้อนใจให้กับบุคคลที่รักเพศเดียวกัน จัดเป็นวจีกรรมที่รุนแรงไม่แพ้กายกรรม
ด้านมโนกรรม คือการที่สังคมมีอคติต่อบุคคลที่รักเพศเดียวกัน มีทัศนคติที่ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ยอมรับว่าคนรักเพศเดียวกันมีตัวตนจริง นำไปสู่ความคิดที่เป็นลบและความรังเกียจอย่างรุนแรงต่อบุคคลที่รักเพศเดียวกัน ซึ่งมโนกรรมเป็นรากเหง้าไปสู่กายกรรมและวจีกรรมข้างต้น
เหล่านี้คือกรรมที่สังคมได้ทำกับคนที่รักเพศเดียวกัน ทั้งทางกาย วาจา และใจ
ประการที่สาม เป็นกรรมของสังคมไทยที่ตั้งอยู่บนรากฐานของโครงสร้างสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ การที่สังคมยกฐานะให้ชายเป็นใหญ่ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง หรือแม้แต่ศาสนา เป็นผลให้บุคคลที่มีเพศสภาพหรือวัยที่แตกต่างอื่น ๆ ไม่ได้รับการเหลียวแลและถูกเลือกปฏิบัติออกไป เช่น ผู้หญิง เด็ก คนชรา และเมื่อมีบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างเพิ่มขึ้นมาอีก ก็เป็นที่แน่นอนว่าบุคคลเหล่านี้จะต้องถูกผลักออกไปด้วย และอาจจะถูกผลักออกไปรุนแรงกว่าบุคคล ๓ ประเภทแรก ซึ่งลักษณะการถูกผลักออกไป จะเป็นไปในรูปแบบของกรรมประการที่สองข้างต้น ด้วยการทำบาป ๓ ด้าน (กาย วาจา ใจ) ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำจะหมุนวนไปมาภายใต้โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ดังกล่าวอย่างไม่มีวันจบสิ้น นับเป็นความรุนแรงที่เกิดกับเพื่อนร่วมโลกภายใต้โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ที่ควรเร่งรีบเยียวยาแก้ไข
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สังคมควรหันกลับมามองดูสมาชิกร่วมสังคมเดียวกันว่า แท้จริงแล้วสังคมเราประกอบไปด้วยบุคคลที่มีเพศสภาพหลายลักษณะ มีบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศมากมายหลายแบบ เป็นเรื่องยากที่เราจะบังคับให้มนุษย์มีเพียงเพศสภาพใดเพศสภาพหนึ่ง เพราะเป็นความพึงพอใจที่แตกต่างของแต่ละบุคคล สังคมควรให้ความเคารพในความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นด้วยธรรมะ ธรรมะคือธรรมชาติได้สร้างสรรค์ความหลากหลายให้เกิดขึ้นบนโลกนี้อย่างเหมาะสมแล้ว แม้แต่มนุษย์เองก็ยังมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างหลากหลาย นับเป็นความสมดุลทางธรรมชาติประการหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มประชากรโลก การใช้ความรุนแรงเข้าจัดระเบียบในสังคม นอกจากจะเป็นการก่อกรรมทำบาปซ้ำซ้อนให้กับเพื่อนร่วมโลกแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้สังคมขาดวิจารณญาณในการเข้าใจคนอย่างสันติวิธีอีกด้วย
การจะเป็นคนดีหรือไม่นั้นไม่ได้เริ่มต้นที่อัตลักษณ์ทางเพศ หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นเพศใดเพศหนึ่ง แต่เริ่มจากจิตใจว่ามีพรหมวิหารธรรมหรือไม่ นั่นคือมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอยู่ภายในใจหรือเปล่า สังคมควรสร้างค่านิยมใหม่ ๆ ให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยการให้ความสำคัญกับคุณธรรมด้านใน มากกว่าแค่อัตลักษณ์ภายนอก และมองความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจที่เป็นกลางอย่างมีพรหมวิหารธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองดูเพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วยใจอันเมตตา ยุติการถือเอาความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์มาเป็นข้ออ้างของการกดขี่ เพื่อที่สังคมมนุษย์จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีภราดรภาพและสงบสันติยิ่งขึ้น เมื่อใดที่เราสร้างสังคมให้เกิดความสงบสันติ เมื่อนั้นได้ชื่อว่า เรากำลังสร้างกรรมใหม่ให้กับสังคมและตนเอง กรรมใหม่ที่เป็นทั้งกรรมดีและเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งในเวลาเดียวกัน.



โดย : พระชาย วรธมฺโม ที่มา : http://skyd.org

ภูเขาหิมาลัยของนักบวชหญิง


(กรุงเทพธุรกิจ 24 ก.ย.45)
พระชาย วรธมฺโม

จะป่วยกล่าวไปไยถึงผลลัพธ์แห่งการเรียกร้อง ที่นักบวชชายย่อมมีโอกาสเป็นต่อ ในขณะที่นักบวชหญิง เรียกร้องอะไรก็ไม่ได้รับการตอบสนอง แม้แต่ไปบวชเป็นสามเณรีมาจากต่างประเทศ ก็ยังถูกผลักไสให้ไปอยู่นิกายอื่น โชคยังดีที่ไม่ถึงกับ ถูกบังคับจับสึกเหมือนเมื่อ 70 ปีที่แล้ว
ในที่สุดการชุมนุมเรียกร้องให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ ที่หน้ารัฐสภา ก็ยุติลงด้วยความเรียบร้อยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ประชุมวุฒิสภาตอบกลับมาว่า จะให้มี สำนักพระพุทธศาสนา แทนข้อเสนอให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนา ทำให้คณะสงฆ์ไม่ต้องสวดมาติกาบังสุกุลให้นักการเมืองชาวพุทธที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์กรพระพุทธศาสนาตามที่ได้ตั้งเงื่อนไขไว้
ที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คณะสงฆ์รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวต่อประเด็นทางสังคม เพราะก่อนหน้านี้พระสงฆ์ก็เคยมีการรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวอยู่แล้วดังเช่นกรณี พระพิมลธรรม หรือที่เก่าไปกว่านั้นก็เรื่องของ ครูบาศรีวิชัย เพียงแต่การออกมาเคลื่อนไหวของพระสงฆ์นั้น ไม่ได้มีการออกมาเคลื่อนไหวบ่อย การออกมาแบบนานๆ ครั้ง จึงเป็นที่สนอกสนใจ และเป็นที่จับตามองของสังคมอยู่ไม่น้อย แต่อะไรก็ไม่น่าแปลกใจเท่าคณะสงฆ์ แกนนำที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นพระสงฆ์ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่ใครๆ ก็ไม่คาดคิดว่าท่านจะออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างเป็นจริงเป็นจังจนคาดไม่ถึง ด้วยเรามีภาพว่า พระผู้ใหญ่ระดับสูงถึงอย่างไรท่านก็คงไม่มีวันออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวท่านเองเป็นแน่ หากเรื่องนั้นไม่ร้ายแรงหรือมีผลกระทบอะไรจริงจัง การเป็นพระผู้มีตำแหน่งเมื่อออกมาเคลื่อนไหวจึงมีผลต่อการเรียกร้องไม่น้อย
ในขณะเดียวกันช่วงปีที่ผ่านมา เราคงจำกันได้ว่ามีกลุ่มผู้หญิงลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อรื้อฟื้นการบวช ภิกษุณี แน่นอนว่าเสียงเรียกร้องนี้ได้สร้างความท้าทายแก่พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยไม่น้อย มีการตั้งคำถามออกมามากมายว่าจะเคลื่อนไหวให้เกิดความไม่สงบไปทำไม บวชเป็นแม่ชีก็ดีอยู่แล้ว ถึงไม่ได้บวชเป็นภิกษุณีก็บรรลุธรรมได้ ฯลฯ ซึ่งคำถามและข้อกังขาเหล่านี้ไม่ได้มาจากนักบวชชายเท่านั้น การไม่เห็นด้วยกับการบวชภิกษุณีก็ยังมีอยู่ในหมู่ฆราวาสหญิงด้วย แม้การออกมาเรียกร้องกระทรวงพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์เอง ก็ยังถูกตั้งคำถามที่ท้าทายในแบบเดียวกัน
หากมองปรากฏการณ์การเรียกร้องการบวชภิกษุณีสงฆ์ว่าเป็นเสียงเรียกร้องจากนักบวชหญิงแล้ว การเรียกร้องกระทรวงพระพุทธศาสนา ก็น่าจะมองได้ว่าเป็นเสียงเรียกร้องจากนักบวชชาย ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้กำลังบ่งบอกว่าถึงที่สุดแล้วเรื่องใดๆ ก็ตามหากไม่กระทบถึงวิถีชีวิต วิธีคิดหรืออุดมการณ์ที่มีอยู่ภายในใจของใคร เป็นใครก็คงไม่ออกมารวมตัวเคลื่อนไหวให้เสียเวลา แม้แต่การออกมาเรียกร้องของนักบวชที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตัดกิเลส รักสงบไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลกย์ เอาเข้าจริง ๆ โลกย์กับธรรมก็เป็นสิ่งที่หนีกันไปไหนไม่พ้น
กรณีที่ผู้หญิงหลายคนๆ ไม่เห็นด้วยกับการบวชภิกษุณี ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสของผู้หญิงเอง แม้แต่นักการเมืองหญิงก็ไม่เห็นว่าจะมีใครลุกขึ้นมาพูดอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้งๆ ที่นักการเมืองหญิงนั่นเองควรจะเป็นผู้ที่มีบทบาทไม่น้อยในการเคลื่อนไหวทางกฎหมายเพื่อโอกาสของผู้หญิง เพราะนักการเมืองหญิงเป็นผู้หญิง ! แต่เพราะเรื่องภิกษุณีไม่อาจเข้าไปกระทบถึงตัวตนของนักการเมืองหญิงท่านใดได้ (แม้แต่จะคิดว่านักการเมืองชายจะเห็นด้วยก็อย่าหวัง) การเรียกร้องให้เกิดภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทย จึงไม่มีกำลังแรงพอและไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ
สิ่งที่น่าสังเกตบางประการจากปรากฏการณ์ทั้งสอง ก็คือ เป็นเสียงเรียกร้องจากนักบวชเหมือนกัน แต่อำนาจในการต่อรองกลับมีไม่เท่ากัน การเรียกร้องของนักบวชชายนั้นเป็นการต่อรองกับภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว หรือถ้าจะมีก็คือการต้องต่อสู้กับคำถามของสื่อที่จะคอยคุ้ยแคะเรื่องความเหมาะสมของสมณสารูป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องอ่อนไหวมากนัก เพราะพระสงฆ์มีอุบาสกอุบาสิกาและแม่ชีมากมายมาเป็นแนวร่วมในการชุมนุม
ในขณะที่การเรียกร้องของนักบวชหญิงนั้น ไม่ว่าจะเรียกร้องพ.ร.บ.แม่ชีหรือเรียกร้องภิกษุณีสงฆ์ก็ตาม ต้องเรียกร้องจากนักบวชชาย (พระสงฆ์) แล้วยังต้องเรียกร้องจากภาครัฐ (กระทรวงศึกษาธิการ) แล้วยังต้องเรียกร้องต่อพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะผู้หญิงชาวพุทธด้วยกัน ให้เกิดความเข้าใจต่อประเด็นที่เรียกร้องอีก ยังไม่รวมการต่อสู้กับสื่อที่คอยเสนอข่าวที่บิดเบือนความจริง ดูเหมือนว่าการเรียกร้องของนักบวชหญิงช่างมีอุปสรรคมากมายหลายเท่าตัว ยังไม่รวมว่านักบวชหญิงต้องประสบกับปัญหาเรื่องแนวร่วมที่หาได้ยากอีกหนึ่งอุปสรรค และการเป็นนักบวชหญิงก็ยังไม่สามารถกดดันฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีอยู่ถึง 3-4 ฝ่ายให้จำนนต่อข้อเรียกร้องได้ ผิดกับนักบวชชายที่มีมรรควิธีในการกดดันฝ่ายตรงข้ามหลายวิธีอย่างน่าติดตาม จะป่วยกล่าวไปไยถึงผลลัพธ์แห่งการเรียกร้องที่นักบวชชายย่อมมีโอกาสเป็นต่อ ในขณะที่นักบวชหญิงเรียกร้องอะไรก็ไม่ได้รับการตอบสนอง แม้แต่ไปบวชเป็นสามเณรีมาจากต่างประเทศ ก็ยังถูกผลักไสให้ไปอยู่นิกายอื่น โชคยังดีที่ไม่ถึงกับถูกบังคับจับสึกเหมือนเมื่อ 70 ปีที่แล้ว
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะการมีเพศสภาพเป็นหญิง คือปัจจัยหนึ่งที่เหมาะกับโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้การต่อรองของผู้หญิงดูมีอำนาจน้อยลง ถึงแม้อำนาจในการกดดันฝ่ายตรงข้ามจะมีอยู่แต่ก็ไม่สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยได้ เพราะอะไรก็น่าจะรู้กันดี การมี สำนักพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่น่าโมทนาแต่ก็ยังไม่รู้ว่ามีแล้วจะช่วยให้นักบวชหญิงได้มีที่เหยียบที่ยืนได้มากน้อยเพียงใด หากมีองค์กรพุทธเกิดขึ้นจริงแต่ไม่สามารถเผื่อแผ่โอกาสไปยังนักบวชอีกเพศหนึ่งบ้างแล้ว องค์กรพุทธดังกล่าว ก็คงมีความลำเอียงทางเพศเหมือนเดิม ถึงแม้การไปร่วมชุมนุมเรียกร้องที่ผ่านมาจะปรากฏว่ามี แม่ชี ไปร่วมแสดงพลังจำนวนไม่น้อยก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิทธิและโอกาสที่ได้มาจะแผ่ไปถึงแม่ชีด้วย และยังไม่อาจทราบได้ว่าแม่ชีเองจะรู้สึกต่อเรื่องนี้อย่างไร การเอาเปรียบผู้หญิงนอกจากจะมีอยู่ในโลกฆราวาสแล้ว แม้ในโลกศาสนาเอง การเอาเปรียบผู้หญิงก็ยังตามรังควานไปถึง ดูเหมือนว่าภูเขาหิมาลัยที่ขวางกั้นนักบวชหญิงอยู่เบื้องหน้า ช่างสูงชันเกินกว่าพวกเธอจะปีนป่ายข้ามไปจริงๆ+พระชาย วรธมฺโม คณะกรรมการกลุ่มเสขิยธรรม


กรุงเทพธุรกิจ

ศาสนาและการกดขี่ทางเพศ

ธาราธรรม

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเรามีการพูดคุยกันระหว่างเพื่อน ๔ ศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม และฮินดู กับเพื่อนบ้าน ๙ ประเทศในแถบเอเชียอันมี ไทย ลาว เขมร พม่า อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย โดยมีเราเป็นเจ้าภาพในการจัดหาสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดประชุมพร้อมไปกับการเป็นผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายในมิติศาสนา” หรือ Living our Faith in Community : Towards Gender Justice and Genuine Partnership of Women and Men
©
การพูดคุยครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมตัวแทน ๔ ศาสนาในเมืองปราพัท ประเทศอินโดนีเชียเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วไปสะดุดเข้ากับประเด็นมิติหญิงชาย (Gender) ว่าเป็นประเด็นที่ควรถูกนำมาพูดคุยกันต่อพร้อม ๆ กับการกลับเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างศาสนาที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทางเพศแก่ผู้ที่ถูกกดขี่ให้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นทั้งนี้เพื่อสนับสนุนความเสมอภาคแก่กันและกันอันนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่เท่าเทียม เพื่อการนำคุณค่าและความงดงามที่มีในศาสนามาสร้างความสงบสุขระหว่างเพศให้เกิดมีขึ้นในที่สุด

การกดขี่ต่อผู้หญิง
การประชุมครั้งนี้ทำให้เห็นภาพรวมว่าความจริงแล้วแต่ละศาสนาต่างก็มีรูปแบบการกดขี่ทางเพศที่ไม่แตกต่างกันนักดังเช่น ผู้หญิงในคริสตศาสนาจะไม่ได้รับการเปิดโอกาสให้บวชเป็นพระได้ (เป็นได้แค่ซิสเตอร์หรือแม่ชี) เช่นเดียวกับพุทธศาสนาในเมืองไทยก็ปิดโอกาสผู้หญิงไม่ให้บวชเป็นภิกษุณีแต่โชคยังดีที่ยังสามารถไปบวชมาจากต่างประเทศได้ ในขณะที่เพื่อนหญิงชาวเขมรบอกกับเราว่าผู้หญิงกัมพูชาที่อยากบวชเป็นภิกษุณีแม้จะไปบวชมาจากต่างประเทศก็ไม่สามารถกลับมาอยู่ประเทศบ้านเกิดของตนได้นอกเสียจากจะกลับไปนุ่งห่มสีขาวแบบแม่ชี คล้าย ๆ กับเพื่อนหญิงในพม่าก็บอกเหมือนกันว่าถึงบวชเป็นภิกษุณีมาจากต่างประเทศก็ไม่สามารถนุ่งห่มสีเหลืองได้ ต้องกลับไปนุ่งห่มแบบแม่ชีพม่า (รู้สึกว่าสีของจีวรช่างมีปัญหาจริง ๆ !)
เพื่อนหญิงชาวฮินดูบอกกับเราว่าผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในเทวสถานเพียงเพราะผู้หญิงมีประจำเดือน แน่นอนว่าวิธีคิดแบบฮินดูก็แทรกซึมเข้ามาสู่สังคมพุทธเถรวาทแบบไทยเหมือนกันเพราะโบสถ์ในวัดแถบภาคเหนือของไทยจะมีป้ายแขวนไว้ชัดเจนว่า ‘ห้ามผู้หญิงเข้า’
เพื่อนหญิงมุสลิมจากอินโดนีเชียเล่าให้ฟังว่าเวลาที่เธออยู่ในประเทศของเธอ ๆ จะต้องสวมใส่ชุดที่ปกคลุมร่างกายมากกว่านี้ (ตอนเธอมาสัมมนาที่นี่เธอได้รับการอนุโลมให้สวมกางเกงขายาวแต่ก็ยังต้องคลุมศีรษะด้วยผ้าอยู่ดี) ชุดที่สวมใส่จะคลุมถึงเท้าไม่ให้เห็นแม้แต่ผิวหนังของเท้า เวลาที่เธอขึ้นบันไดไปสอนหนังสือ (เธอเป็นครูด้วย) บ่อยครั้งที่เธอเกือบตกบันไดเพราะเหยียบเอาชายผ้าที่ยาวลากพื้น
เพื่อนหญิงอิสลามคนเดิมยังเล่าถึงผ้าคลุมศีรษะว่าเธอถูกห้ามไม่ให้เปิดผ้าคลุมให้คนอื่นเห็นเส้นผมตั้งแต่เล็ก ดังนั้นจึงไม่มีใครรู้ว่าเธอไว้ผมทรงอะไรนอกจากจะได้เห็นเพียงใบหน้าทรงกลมของเธอ เราถามเธอว่า ‘เราจะมีโอกาสได้เห็นเส้นผมของเธอบ้างไหม’ เธอตอบว่า ‘ฉันอยากเปิดเผยให้คนอื่นได้เห็นทรงผมและหน้าตาของฉันเหมือนกัน แต่ฉันต้องให้เกียรติเพื่อนคนอื่น ๆ ที่เป็นชาวมุสลิมที่มาด้วยกัน’ เธอเล่าเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดจริง ๆ จะไม่มีโอกาสเห็นแม้แต่ใบหน้า จะถูกปิดหมดเหลือเพียงแค่ดวงตา เรากำลังคิดในใจว่าทำไมเพื่อนชายมุสลิมที่มาด้วยกันจึงอยู่ในชุดลำลองสบาย ๆ ไม่ต้องปิดบังอะไรต่างจากเพื่อนหญิงที่มาด้วยกัน

การกดขี่ผ่านวัฒนธรรม
เมื่อพูดถึงการกดขี่ในศาสนาแล้วการกดขี่จากสังคมและวัฒนธรรมเองก็ดูจะเป็นอะไรที่คาบเกี่ยวกันจนบางทีเราก็แยกแทบไม่ออกว่าอะไรคือการกดขี่จากศาสนา อะไรคือการกดขี่จากวัฒนธรรม งานนี้เราจึงไม่ได้พูดคุยกันแค่การกดขี่ทางเพศในศาสนาเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงการกดขี่ที่มาในรูปของสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย เพื่อนหญิงจากพม่าเล่าว่าวันนี้เธอสามารถสวมเสื้อคอกว้างให้เห็นลำคอและไหปลาร้าได้ ถ้าเป็นประเทศของเธอละก็ผู้หญิงจะถูกบอกให้สวมเสื้อปิดหลุมคอให้มิดชิด (ไม่มีโอกาสใส่สายเดี่ยวหรือเกาะอกเหมือนสาว ๆ ในเมืองไทย-อันนี้ข้าพเจ้าเติมเอง) ผู้หญิงพม่าต้องไว้ผมยาวห้ามซอยผมสั้น เพื่อนหญิงชาวอินเดียเล่าว่าวัฒนธรรมการแต่งงานของชาวอินเดียเจ้าสาวต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าสินสอดทองหมั้น เจ้าสาวบางรายถึงกับถูกฆาตกรรมเพียงเพราะเธอจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นไม่ครบตามที่ได้ตกลงกันไว้ และถ้าบ้านไหนมีแต่ลูกสาวก็ลองนึกภาพดูว่าพ่อแม่จะต้องยากจนลงอีกเพียงใดเพราะผู้หญิงอินเดียไม่ถูกเปิดโอกาสให้ไปทำงานนอกบ้านแล้วจะเอาเงินค่าสินสอดมาจากไหน รวมทั้งประเพณีกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามีที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่จริง !
สิ่งที่พวกเรา ๔ ศาสนาจาก ๙ ประเทศมาแบ่งปันกันที่จริงมีมากกว่านี้และมีความสลับซับซ้อนกว่านี้ แต่คงไม่อาจเก็บความมาเล่าได้หมด ฟัง ๆ ไปก็นึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่าผู้หญิงทนให้ถูกกดขี่อยู่ได้อย่างไร ในเวลาเดียวกันก็งงอยู่เหมือนกันว่าผู้ชายเราปล่อยให้ศาสนา สังคม และวัฒนธรรมมากดขี่เพื่อนหญิงกันขนาดนี้ได้อย่างไร และที่เหมือนกันหมดทุกประเทศเลยก็คือทุกประเทศต่างก็มีผู้หญิงถูกข่มขืนด้วยกันทั้งสิ้นจัดเป็นการคุกคามทางเพศยอดฮิต ในกลุ่มย่อยชาวพุทธมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาตั้งคำถามกันว่าแทนที่จะไปข่มขืนผู้หญิงทำไมผู้ชายจึงไม่เลือกที่จะสำเร็จความใคร่ตนเองแทน เพื่อนหญิงในกลุ่มให้คำตอบว่ามันคงไม่เหมือนกัน การข่มขืนทำให้ตัวเองดูยิ่งใหญ่และมีอำนาจเหนือกว่าในขณะที่การสำเร็จความใคร่ดูเป็นเรื่องไม่เข้าท่า…

ประเด็นร้อน
ประเด็นร้อนในการพูดคุยครั้งนี้ที่ต้องเก็บมาเล่าคงเป็นเรื่อง ‘ประจำเดือน’ และ ‘การขายบริการ’ เมื่อผู้หญิงฮินดูถูกห้ามเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธ์เพียงเพราะมีรอบเดือน เพื่อนหญิงชาวฮินดูแสดงความเห็นว่าไม่เห็นแปลกเพราะศาสนาคงไม่ต้องการให้สิ่งที่เป็นคาว ๆ เข้าไปใกล้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างกับเวลามีคนต่อสู้กันด้วยความรุนแรงมีเลือดไหลอาบเราก็คงไม่รู้สึกดีที่ได้เห็น ทำเอาหลาย ๆ คนที่ได้ยินรู้สึกอึ้งเพราะไม่คิดว่าจะได้ยินการเปรียบเทียบทำนองนี้เพราะหลายคนกำลังมองว่าเป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในสถานที่ศักดิ์ ขณะที่ผู้ดำเนินรายการต้องรีบแตะเบรคเพราะเริ่มเห็นว่าบรรยากาศกำลังจะไปสู่ ‘มาคุ’ ทางความเห็น
ประเด็นหญิงขายบริการก็มีคนแปลกใจกันมากเมื่อรู้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้ประนามคนที่ขายบริการทางเพศว่าเป็นพวกผิดศีลธรรม หญิงขายบริการเองก็มีส่วนในการสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างวัดทั้งในพุทธประวัติที่ปรากฏและในกรุงเทพ ฯ ก็มี ‘วัดคณิกาผล’ ให้เห็น อีกทั้งพระพุทธเจ้ายังเปิดโอกาสให้หญิงขายบริการเข้ามาบวชเป็นภิกษุณีและสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงได้อีกด้วย ข้อมูลตรงนี้ทำเอาเพื่อนร่วมประชุมต่างศาสนาหลายคนรู้สึกตื่นเต้นไม่คิดว่าพุทธศาสนาจะใจกว้างปานนี้ แต่เราก็อธิบายให้ฟังว่าในสังคมไทยปัจจุบันก็ไม่ได้เปิดกว้างทางความคิดเหมือนกับปรัชญาทางศาสนา ในโลกของความเป็นจริงสังคมไทยก็ยังคงรังเกียจและมีอคติกับหญิงขายบริการไม่ต่างกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ

เกย์กับภิกษุณี
วันไปดูงานนอกสถานที่ตามตารางเก่าเรานัดกันว่าจะไปเยี่ยมชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ จ. กาญจนบุรี แต่เนื่องจากระยะทางที่ไกลเกินไป จึงมีการปรับเปลี่ยนกระทันหันแต่ก็ยังไม่หลุดไปจากประเด็นมิติหญิงชาย ด้วยการพาไปเยี่ยมชมสวนลุมพินีในกรุงเทพ ฯ พร้อมกับแนะนำว่าสวนลุมพินีแห่งนี้นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนของคนกรุงในวันหยุดสุดสัปดาห์เวลากลางวันแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดพบปะของชาวเกย์ในยามค่ำคืนอีกด้วย
หลังหกโมงเย็นเป็นต้นไปด้านนอกสวนลุม ฯ บริเวณลานพระบรมรูปจะเป็นจุดที่ชายเกย์ขายบริการมาเดินเตร็ดเตร่หาลูกค้าตกลงราคากัน แต่ลึกเข้าไปในเขตสวนสาธารณะด้านในเกือบทุกจุดที่มีม้านั่งหินและสุมทุมพุ่มไม้จะเป็นจุดหาคู่ของชายเกย์ที่ต้องการหาเพื่อนคุยหรือเพื่อนนอนโดยไม่มีใครต้องจ่ายค่าบริการ ขณะที่ถัดออกไปอีกด้านของสวนลุมพินีทางป้ายรถเมล์ของถนนวิทยุจะเป็นจุดหาลูกค้าของหญิงขายบริการไร้สังกัด นี่คือการจัดโซนนิ่งตามธรรมชาติของคนกลางคืนแถวนี้ อย่างไรก็ตามนี่เป็นปรากฏการณ์วัฒนธรรมทางเพศของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถพบปะเปิดเผยตัวตนในที่โล่งแจ้งได้อย่างปรกติ ไม่ว่าจะอย่างไรเราคงไม่อาจปฏิเสธความมีตัวตนและพฤติกรรมทางเพศของพวกเขาเหล่านี้ไปได้ จากนั้นพวกเราก็ไปกันที่ ‘สมาคมฟ้าสีรุ้ง’ เพื่อรับฟังเรื่องราวการกดขี่คนรักเพศเดียวกันในสังคมไทย
ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ตัวแทนจากองค์กร ‘สะพาน’ (ผู้หญิงรักผู้หญิง) บอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกันในเมืองไทยให้ฟังตั้งแต่ห้ามเป็นครู ห้ามบวชพระ ห้ามออกทีวี เหล่านี้เป็นความรุนแรงนอกบ้านไปจนถึงความรุนแรงในบ้านที่เคยมีทอมสาวฆ่าตัวตายเพราะคนในบ้านไม่ให้การยอมรับ หญิงรักหญิงบางคนถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานเพื่อจะได้หายจากการเป็นเลสเบี้ยน
ระพีพันธ์ จอมมะเริง ตัวแทนจาก ‘สมาคมฟ้าสีรุ้ง’ (ผู้ชายชอบผู้ชาย) บอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดกับเกย์ว่า เกย์ที่เป็นชนชั้นล่าง คนขายแรงงาน คนต่างจังหวัดจะมีชีวิตที่ยากลำบาก เมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่จึงใช้ความเป็นเกย์ของตนแลกกับเงินด้วยการขายบริการอย่างที่เราได้ไปสำรวจบางส่วนของสวนลุมพินีมาแล้ว บางคนก็ตัดสินใจไปขายบริการในแหล่งแสงสีมีสังกัดในถนนสีลม สังคมไม่ได้ให้การยอมรับการมีตัวตนของ ‘ผู้ชายที่รักผู้ชาย’ จึงทำให้ชายเกย์จำนวนหนึ่งมุ่งตัวเองไปสู่การแปลงเพศเพราะคิดว่าหนทางที่ดีคือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นหญิงไปเลย นั่นยิ่งทำให้เกิดความซับซ้อนยิ่งขึ้นเพราะการผ่าตัดแปลงเพศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้เงินและเสี่ยงต่อการเจ็บเนื้อเจ็บตัวและก็ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนเพศไปแล้วจะได้รับการยอมรับอย่างง่ายดาย การแปลงเพศอาจเหมาะกับคน ๆ หนึ่งเท่านั้นแต่ไม่ได้หมายความว่าเกย์ทุกคนต้องแปลงเพศ ในขณะที่เกย์ชนชั้นกลางในเมืองก็มักประสบปัญหาการไม่ยอมรับจากพ่อแม่พี่น้อง เกย์หลายคนต้องหลบออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่ออิสระที่มากกว่า เรื่องของเกย์และเลสเบี้ยนจึงเป็นประเด็นที่กระทบต่อระบบความคิดความเชื่อเรื่องเพศชายเพศหญิงที่มีอยู่เดิมของผู้คนในสังคมไทย
จากนั้นพวกเราก็ไปกันที่ วัตรทรงธรรมกัลยาณี เพื่อสนทนาธรรมกับ หลวงแม่ธัมมนันทา ที่นี่หลวงแม่ได้เล่าถึงปัญหาในเมืองไทยว่าคณะสงฆ์ไทยไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ถ้าจะบวชก็ต้องไปบวชจากต่างประเทศแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ เพราะต้องมีวัดเป็นของตนเองรองรับซึ่งวัดส่วนใหญ่ในเมืองไทยก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้มีภิกษุณีเข้าไปพำนักอยู่แล้วเพราะเป็นวัดของพระผู้ชาย สิ่งสำคัญก็คือภิกษุณีควรมีวัดเป็นของตนเองจะได้ไม่ถูกอำนาจจากฝ่ายสงฆ์เข้าแทรกแซง (อันนี้ผู้เขียนเติมเอง) แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยก็คือให้การศึกษาแก่ชาวพุทธเรื่องการบวชภิกษุณีกันเป็นขนานใหญ่ เพราะชาวพุทธส่วนมากเมื่อเห็นผู้หญิงห่มเหลืองแล้วยังไม่เข้าใจและมักจะตั้งคำถามกันเสมอ
เมื่อการดูงานมาถึงตรงนี้เราได้นำเสนอว่าสถานการณ์การกดขี่ทางเพศในเมืองไทยเวลานี้ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ที่การกดขี่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปสู่การกดขี่เพศสภาพอื่น ๆ คือเกย์ เลสเบี้ยน กะเทย ถึงตรงนี้เพื่อนหลายคนทำหน้างงพร้อมกับตั้งคำถามว่ามันเกี่ยวกันอย่างไรเพราะตอนนี้เรากำลังพูดคุยกันถึงเรื่องการกดขี่ผู้หญิง เราจึงอธิบายเพิ่มเติมว่าอันที่จริงเพศสภาพเกย์ กะเทย ก็มาจากชาย ส่วนเลสเบี้ยนก็มาจากหญิง บุคคลเหล่านี้กำลังแสดงบทบาททางเพศที่นอกกรอบความเป็นชาย-ความเป็นหญิง แท้จริงแล้วพวกเขาก็คือผู้ชาย-ผู้หญิงที่กำลังถูกกดขี่และถูกเอาเปรียบนั่นเองไม่ว่าจะถูกห้ามบวช ห้ามออกทีวี ห้ามเป็นครู ห้ามเปิดเผยตัวเอง ถ้าเรามองให้เห็นความเป็นมนุษย์เราก็จะเห็นว่าพวกเขาก็คือมนุษย์ที่กำลังถูกเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกดขี่เอาเปรียบ มีความจำเป็นอย่างมากเมื่อเราศึกษาการเรียนรู้เรื่องการกดขี่ทางเพศเราต้องมองให้แตกว่าเวลานี้การกดขี่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพศหญิงเท่านั้น

ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
สิ่งที่ทำให้เพื่อนร่วมประชุมต้องงงเป็นรอบที่สองดูจะเป็นปัญหาใหญ่ของการประชุมระหว่างศาสนาแบบนี้ก็คือการที่แต่ละท่านมาจากต่างศาสนาและยังไม่อาจเข้าใจคำสอนสูงสุดของศาสนาอื่น ๆ ดังกรณีเพื่อนชาวพุทธของเรานำเสนอว่าในที่สุดแล้วการทำงานเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียมระหว่างเพศต้องตระหนักรู้ภายใต้เงื่อนไขว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมหรือการกดขี่ทางเพศนั้นมาจากการแบกรับเอาตัวตนชายหญิงเข้ามายึดไว้ในใจ ในที่สุดก็ยึดมั่นเอาความแตกต่างนี้มากดขี่กัน หนทางที่ต้องทำไปด้วยก็คือการตระหนักรู้ว่าเพศสภาพเป็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เราอย่าแบกไว้จริงจังนัก แต่ให้มองให้ลึกว่าเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าทำให้ฝ่ายที่ถูกกดขี่ได้รับการเอาเปรียบอยู่ร่ำไป

ชายเป็นใหญ่
เวลาที่มีการพูดถึงโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ทีไรสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งก็คือผู้ชายมักจะมีอาการซึมเศร้าและดูจะเป็นบรรยากาศ ‘มาคุ’ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เวลาที่มีการพูดถึงประเด็นหญิงชายแบบนี้แม้แต่การประชุมครั้งนี้ก็เช่นกันซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปรกติ แต่อันที่จริงก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนจะได้เปรียบจากโครงสร้างอันนี้เสมอไปไม่ใช่หรือ ยังมีผู้ชายจำนวนมากทีเดียวที่ต้องทนทุกข์ไปกับโครงสร้างกำมะลออันนี้และสถานการณ์กำลังรอให้ผู้ชายกลุ่มนี้ออกมาพูดอยู่ และเพื่อนร่วมประชุมก็ต้องงงเป็นรอบที่สามเมื่อเพื่อนชาวพุทธเรานำเสนอว่าสาเหตุของความไม่เท่าเทียมทางเพศไม่ได้มาจากโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่โดยตรง แต่มีโลภะ โทสะ โมหะชักใยให้โครงสร้างนี้ให้ดำรงอยู่

แนวคิดเรื่องอำนาจ
แนวคิดเรื่องอำนาจเป็นประเด็นที่ทำให้เพื่อนร่วมประชุมต้องงงเป็นรอบที่สี่ เมื่อเพื่อนคนไทยของเราคนหนึ่งนำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง ‘อำนาจ’ ซึ่งเนื้อหาของการเรียนรู้ได้นำไปสู่ประเด็นที่เปิดกว้างว่าภายใต้การกดขี่ระหว่างเพศนั้นมีการใช้อำนาจแฝงอยู่ อำนาจอาจไม่ใช่การกดขี่ระหว่างชายกระทำกับหญิงเท่านั้น ใครก็ตาม (ไม่ว่าเพศไหน) ถ้ามีอำนาจเหนือกว่าก็สามารถกดขี่ใครก็ได้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง และคนที่ถูกกดขี่อาจเป็นผู้ชายก็ได้… ถ้าการพูดคุยเรื่องมิติหญิงชายของเราไม่แตกแขนงไปถึงเรื่องอำนาจแล้วเราก็คงเข้าใจประเด็นเรื่องการกดขี่ได้ยากว่าการกดขี่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายกับผู้ชายก็สามารถกดขี่เอาเปรียบกันได้เหมือนกัน ความงุนงงครั้งที่สี่จึงเกิดขึ้น

อยากได้ยินในสิ่งที่อยากฟัง
โดยภาพรวมแล้วการประชุมพูดคุยกันเรื่อง ’ความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายในมิติศาสนา’ ซึ่งเป็นครั้งแรกครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องปรัชญาการเรียนรู้ร่วมกันอยู่หลายประการด้วยกัน เพราะผู้จัดรวมถึงผู้เข้าร่วมหลายท่านต่างก็มีความคาดหวังว่าจะได้รับฟังเรื่องราวการกดขี่ในรูปแบบที่ตนเองต้องการจะได้ฟัง ยกตัวอย่างมีเพื่อนคนหนึ่งนำเสนอว่าผู้หญิงในประเทศของตนได้รับการปกป้องคุ้มครองดี ใครถูกข่มเหงก็สามารถไปแจ้งความเดือดร้อนกับหน่วยงานของราชการได้นี่จึงทำให้หลาย ๆ คนตั้งคำถามถึงข่าวคราวความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ตนได้ยินได้ฟังมาจากประเทศนั้น ๆ ทำเอาบรรยากาศเหมือนจำเลยกำลังถูกไต่สวนสอบสวนอย่างเคร่งเครียด หรืออย่างกรณีว่าในศาสนาเดียวกันเมื่ออยู่ต่างถิ่นต่างประเทศกันไปความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงในศาสนานั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันก็ได้ แต่เมื่อเพื่อนร่วมประชุมได้ฟังว่ามันไม่เหมือนกันก็เลยทำให้แต่ละคนที่พกพาเอาความคาดหวังว่าต้องได้ฟังอะไรในแบบที่ตนอยากได้ยินเกิดความรู้สึกกร่อย ๆ และไม่สบอารมณ์
แม้แต่ช่วงการนำเสนอการวางแผนงานว่าใครจะทำอะไรเมื่อกลับไปประเทศของตนนั่นก็ยังรู้สึกอึดอัดเพราะผู้ดำเนินรายการรวบรัดเอาความคาดหวังของตนเป็นใหญ่แทนที่จะปล่อยให้เป็นการเรียนรู้และตัดสินใจของเพื่อนผู้เข้าร่วมเองว่าตนมีความสามารถที่จะกลับไปทำอะไรในประเทศของตนเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง เมื่อนำเสนอในที่ประชุมต่างก็ถูกตรวจสอบและตั้งคำถามเลยทำให้บรรยากาศไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร
เพื่อนคนไทยบางคนถึงกับพูดอย่างโล่งอกในวันสุดท้ายของการประชุมว่า ‘เฮ้อ..ในที่สุดก็จบเสียที’ สำหรับบางคนแล้วนี่อาจเป็นการประชุมสัมมนาที่แสนวิบากก็ได้ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อรายการสัมมนาเท่านั้น เราก็ได้แต่หวังลอย ๆ ว่าเพื่อนต่างศาสนาและต่างวัฒนธรรมที่ทั้งงุนงงและคาดหวังอะไรไว้สูงกับการประชุมครั้งนี้คงได้เรียนรู้อะไร ๆ ที่แปลกและใหม่ไปจากเดิมบ้าง หรือบางทีอาจไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยก็เป็นได้นะเออ.



© จัดโดย Asia & Pacific Alliance of YMCAs (APAY), Christian Conference of Asia (CCA), Church Development Service (EED) และ Continuation Committee for the Gender Justice Consultation สถานที่จัดประชุมคืออาศรมวงศ์สนิท

พุทธศาสนากับโรคติดเชื้อ


โดย พระชาย วรธัมโม

พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย กำลังเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายชนิดหนึ่ง ที่อาจจะเลวร้ายกว่าโรคเอดส์ก็เป็นได้ โรคร้ายที่ว่านี้ก็คือโรครังเกียจผู้หญิง (Misogyny Disease)

กรณีวุฒิสมาชิก ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ออกมาตั้งกระทู้กับสังคมว่า ควรถอดป้าย "ผู้หญิงห้ามเข้า" ที่ติดอยู่ตามเจดีย์พุทธสถาน ในจังหวัดภาคเหนือออก เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติกับสตรีเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ชาวเชียงใหม่ไม่พอใจ เพราะถือเป็นการลบหลู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อห้าหมื่นรายชื่อ เพื่อถอดถอน ส.ว.ระเบียบรัตน์ออกจากตำแหน่ง และยังมีการเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งตามมา จน ส.ว.ระเบียบรัตน์ต้องออกมาขอโทษชาวเชียงใหม่ตามข่าว

ย้อนกลับไป 75 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2472) คราวที่นายนรินทร์ ภาษิต พาลูกสาวสองคน (สาระและจงดี) ออกบวชเป็นสามเณรีเพื่อรื้อฟื้นการบวชภิกษุณี สิ่งที่นายนรินทร์ได้รับก็คือ การกล่าวโทษจากสังคมว่า เป็นภัยต่อพุทธศาสนาควรมีการลงโทษถึงประหารชีวิต ในที่สุดสามเณรีทั้งสองก็ถูกจับสึกหลังจากบวชได้ประมาณสองเดือน รวมทั้งถูกตัดสินจำคุกในเวลาต่อมา
แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองจะเกิดห่างกัน 7 ทศวรรษมาแล้ว แต่อาการของโรครังเกียจผู้หญิงก็ไม่ได้ทีท่าที่แตกต่างกันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกีดกันผู้หญิงไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่ศาสนา ซ้ำร้ายต้องถูกลงโทษจากสังคมไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่งหากมีการกระทำที่สังคมเห็นว่าไม่อยู่ในร่องในรอย

อาการรังเกียจผู้หญิงบางที (หรือบ่อยครั้ง)ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรมารองรับก็ได้ แม้จะมีการกล่าวอ้างกันว่าเป็นจารีตประเพณีที่นับถือสืบกันต่อมาเป็นร้อยๆ ปี หรือด้วยการกล่าวอ้างว่า ไม่เคยมีการประพฤติปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะนำเหตุผลดังกล่าวมายืนยันโดยมีรากเหง้าของความรังเกียจเพศเป็นฐานรองรับสนับสนุน

โรครังเกียจผู้หญิงพัฒนาไปไกลมาก ดังนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับผู้หญิงจึงถูกรังเกียจไปด้วย แม้แต่ประจำเดือนซึ่งมักจะถูกอ้างถึงบ่อยๆ ว่า เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้หญิงจึงถูกตั้งแง่รังเกียจมิให้เข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โดยอัตโนมัติ แม้ว่าผู้หญิงหลายคนอาจจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปนานแล้ว แต่ก็ยังถูกห้ามอยู่ดี โดยที่การห้ามผู้หญิงเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นแนวคิดที่มาจากศาสนาฮินดู แต่ก็จัดว่าเข้ากันได้กับพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย เพราะพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยมีมุมมองต่อผู้หญิงว่า เป็นมารมากกว่าจะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่น่าสงสัยว่า เหตุใดผู้หญิงจึงถูกกีดกันอย่างรุนแรงเช่นนี้
แม้แต่ผู้ชายที่มีบุคลิกไปทางผู้หญิงก็จะพลอยถูกกีดกันมิให้มีส่วนร่วมในพื้นที่ศาสนาไปด้วย การห้ามสาวประเภทสองบวชจึงมีรากเหง้ามาจากโรครังเกียจผู้หญิงดังกล่าว

การรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เมื่อมาเจอเข้ากับประเด็น "ห้ามเข้า-ห้ามบวช" จึงดูเหมือนว่าคนทั่วไปจะมองเห็นได้ยากว่า นี่แหละคือความรุนแรงจากการเลือกปฏิบัติแบบเต็มๆ ที่ชัดเจนไปกว่าก็คือ มีการเผาพริกเกลือสาปแช่งและการล่ารายชื่อเพื่อปลดนางระเบียบรัตน์ออกจากตำแหน่ง ส.ว.ที่ดูเหมือนว่า ชาวพุทธที่กำลังเดือดดาลอยู่ในเวลานี้ไม่ได้นำหลักธรรมเรื่องเมตตาและปัญญามาใช้ และดูจะหลงใหลไปกับโทสะที่แวะเวียนเข้ามากระตุกทดสอบ

พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาก็เพื่อจะบอกกับมนุษย์ว่า สรรพสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีผู้ชาย ไม่มีผู้หญิง ความเป็นชายความเป็นหญิงเป็นเพียงสิ่งสร้างทางสังคม ถ้าพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาแล้วกลับส่งเสริมอุปาทานที่มนุษย์ยึดติดนี้ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นชายเป็นหญิงอย่างรุนแรงมากขึ้น หนำซ้ำยังถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงสร้างสังคมที่ยึดถือเอาผู้ชายเป็นใหญ่แล้วกดผู้หญิงให้ต่ำลง

พุทธศาสนานั้นก็คงเข้าสู่การติดเชื้อขั้นโคม่า แม้พุทธศาสนิกชนเองก็คงเจ็บป่วยเข้าขั้นโคม่าไม่แพ้กัน

Samsara : การออกบวชของผู้ชาย กับ ชะตากรรมของผู้หญิง



เรามักจะได้ดูหนังที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศในศาสนาคริสต์ ในขณะที่เราไม่ค่อยได้มีโอกาสดูหนังที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศในศาสนาพุทธบ่อยนัก นั่นอาจเป็นเพราะเราอยู่ในวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยชอบพูดเรื่องเพศในที่สาธารณะก็เป็นได้ ภาพยนตร์หรือละครที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เราได้ดูส่วนใหญ่ ถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ก็มักจะเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม

Sam Sara ดูจะเป็นหนังเกี่ยวกับพุทธศาสนาเรื่องแรก ที่หยิบยกเอาประเด็นเรื่องเพศ มาพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา แม้หนังจะอิงเอากับวัฒนธรรมพุทธวัชรยานแบบทิเบตมาเป็นตัวดำเนินเรื่องก็ตาม แต่บริบทของปรัชญาในศาสนาพุทธแบบทิเบต ก็ไม่ได้ห่างไกลจากพุทธแบบเถรวาทบ้านเราสักเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นมิติหญิงชาย (Gender) ที่หนังพยายามนำเสนอก็มีสถานการณ์ร่วมบางประการที่คล้ายคลึงกัน โอกาสที่จะดูหนังเรื่องนี้อย่างไม่เข้าใจจึงแทบไม่มี

หลังจากที่ลามะต้าชิประพฤติวัตรเข้าเงียบทำสมาธิอยู่ในหุบเขาเป็นเวลาสามปี ผมเผ้ายาวรุงรังจนเพื่อนลามะต้องหอบหิ้วพากลับวัด ในที่สุดสิ่งที่ลามะต้าชิค้นพบว่ายังไม่สามารถตัดได้ขาดก็คือความรู้สึกทางเพศที่มีต่อผู้หญิง นั่นถึงกับทำให้เขาตะโกนใส่พระพุทธรูปองค์ใหญ่กลางวิหารว่า ‘ท่านเองมีโอกาสใช้ชีวิตทางโลกจนถึงอายุ ๒๙ แต่ข้า ๕ ขวบก็ถูกกำหนดให้ใช้ชีวิตอย่างพระ’ ด้วยความไม่พึงพอใจในชีวิตพรหมจรรย์อีกต่อไป สอดรับกับคำสอนของลามะชราในหุบเขาผู้ปิดวาจาได้เตือนสติต้าชิผ่านแผ่นผ้าธรรมะว่า ‘ทุกสิ่งที่สัมผัสคือสถานฝึกแนวทาง’ เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้ายอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อให้เขาตัดสินใจลาสิกขาเพื่อออกไปใช้ชีวิตฆราวาส... ‘ครอบครองเพื่อสละทิ้งในวันข้างหน้า’ ตามคำพูดที่เขารำพึงรำพันต่อหน้าพระพุทธรูปใหญ่องค์นั้น

หนังเองดูจะเล่นอยู่กับประเด็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวอยู่เป็นนัยตั้งแต่ต้นเรื่อง เมื่อต้าชิกำลังซักจีวร ก็มีเสียงพระพี่เลี้ยงเล่าพุทธประวัติ ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะหนีลูกเมียออกบวชให้เณรน้อยบวชใหม่ฟัง เณรน้อยได้ฟังก็ร้องไห้อยากกลับบ้านขึ้นมาทันที ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเล่ากับเหตุการณ์ปัจจุบันของหนังว่า มีความสอดคล้องกันอย่างไร นั่นเป็นจุดเริ่มของการตั้งคำถามกลาย ๆ ว่าศาสนาเองหรือไม่ที่ทำให้สถาบันครอบครัวต้องเผชิญกับความทุกข์จากการพลัดพราก ด้วยการดึงเอาชายหนุ่มกับเด็กน้อยให้ไปใช้ชีวิตเป็นนักบวช ก่อนที่หนังจะเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องราวในครอบครัว และการออกบวชอย่างเป็นจริงเป็นจังในที่สุด

การตัดสินใจหนีสึกจากเพศพระของต้าชิ กลางดึกคืนนั้นถูกทำให้กลายเป็นภาพในมุมกลับกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อคราวหนีออกบวชอย่างจงใจ แม้แต่ฉากเปลี่ยนชุดฆราวาสที่ริมน้ำ ก็เชิญชวนให้คนดูนึกเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เจ้าชายสิทธัตถะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ถือเพศนักบวชที่ริมน้ำอโนมา สายน้ำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านสถานะของบุคคลไปสู่การเรียนรู้ในโลกที่ไม่คุ้นเคย (เราจะสังเกตเห็นฉากที่เกี่ยวกับน้ำอีก ๒–๓ ฉากข้างหน้า) หนังจึงไม่ได้ให้ค่าการลาสึกของต้าชิว่าเป็นเรื่องพ่ายแพ้ต่อกิเลสตัณหา ตรงกันข้ามหนังกลับทำให้การลาสึกของต้าชิ กลายเป็นการเรียนรู้ชีวิตแบบเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะเรียนรู้ชีวิตขณะออกบวชอย่างท้าทายคนดู ดังนั้นเนื้อเรื่องต่อจากนี้ไปจึงเป็นช่วงเวลาของการค้นหาสัจจธรรมจากชีวิตทางโลกของต้าชิ เมื่อต้าชิไปใช้ชีวิตฆราวาสจริง ๆ ก็ต้องพบกับความสุขและความทุกข์ในแบบที่โลกมี ได้พบรักกับเปม่าสาวชาวนามีกามารมณ์อย่างสุขล้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นชาวนาที่ถูกกดขี่จนต้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรม การมีครอบครัวและลูกที่ต้องกลายเป็นห่วงผูกมัด อีกทั้งกามารมณ์ที่ไม่มีขอบเขตจะควบคุมได้ไปสู่การเป็นชู้กับสุชาดา (โปรดสังเกตว่าชื่อของชู้รักชื่อนี้มีนัยบางอย่าง ?) ในที่สุดก็ต้องลาจากกับสุชาดาชู้รักเมื่อเธอต้องกลับไปแต่งงานที่บ้านเกิด สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้ต้าชิเริ่มมองเห็นสัจจธรรม ในช่วงเวลาเดียวกันอาโปลามะชรากำลังจะละสังขาร จึงส่งจดหมายมาหาต้าชิให้เลือกตัดสินใจอีกครั้งว่า จะกลับไปใช้ชีวิตลามะหรือชีวิตฆราวาส

ไม่ต้องสงสัยว่าต้าชิเลือกที่จะกลับไปเป็นลามะอีกครั้ง หนังก็ยังอิงเหตุการณ์ตอนนี้เข้ากับเหตุการณ์ในพุทธประวัติขณะเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชที่ริมน้ำ เมื่อต้าชิเหลียวดูลูกและเมียก่อนจะหนีออกจากบ้านไปอย่างเงียบเชียบ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตลามะอย่างถาวรโดยเปลี่ยนชุดเป็นลามะที่ริมน้ำแห่งเดิม

แต่เรื่องราวก็ไม่ง่ายเช่นนั้น แม้ผัสสะในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ต้าชิได้สัมผัสขณะเป็นฆราวาสจะเป็นสะพานไปสู่การเห็นสัจจธรรมของโลก แต่บุคคลที่เขาได้เข้าไปข้องแวะและปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติการดูผัสสะเช่นเดียวกับที่เขาปฏิบัติ แต่บุคคลเหล่านั้นได้กลับกลายเป็นเยื่อใยความผูกพันที่ตัดได้ยากยิ่งกว่าเมื่อเปม่าเมียสุดที่รักตามมาตัดพ้อ ต่อว่าว่าเธอและลูกได้ตกเป็นเหยื่อของความเปล่าเปลี่ยว เมื่อสามีเลือกกลับไปใช้ชีวิตนักบวช หนังได้นำคนดูไปสู่เนื้อหาและคำถามที่จริงจังอีกครั้งว่า การออกบวชของผู้ชายเป็นการโยนความรับผิดชอบต่อครอบครัวให้ตกเป็นภาระกับผู้หญิงหรือไม่

เวลาเดียวกันคงเป็นโชคร้ายของต้าชิที่อาศัยครอบครัวเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สัจจธรรม ทำให้การออกบวชครั้งที่สองของเขามีอุปสรรคกีดขวาง แต่เมื่อเราพูดถึงคำว่า ครอบครัว สิ่งที่พัวพันตามมาเสมอกับคำว่าครอบครัวมักจะเป็นมายาคติที่เกี่ยวกับผู้หญิงในฐานะ ‘เมีย’ และ ‘แม่’ ความเป็นเมียและแม่ตามความหมายของครอบครัวที่สังคมกำหนด ได้บล็อกผู้หญิงให้เข้ากับความรับผิดชอบในครัวเรือนแบบดิ้นไม่หลุด ทันทีที่เธอเกิดมาพร้อมกับมดลูกและรังไข่ ดังนั้นเมื่อใดที่เราพบข่าวเด็กทารกถูกทิ้ง เราจึงมักมุ่งความรับผิดชอบไปที่แม่เป็นบุคคลแรกมากกว่าพ่อ ในขณะที่พ่อกับบทบาทการรับภาระนอกบ้าน (โดยที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับครัวเรือนและลูก) ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้อยู่แล้วในเรื่องเศรษฐกิจเพื่อครอบครัว ภาระการดูแลบ้านกับลูกน้อยจึงตกอยู่กับแม่ (หรือเมีย) ไปโดยปริยายเราจึงไม่มีโอกาสพบศาสดาที่เป็นผู้หญิงเสียที หนังได้พาคนดูไปสู่การตั้งคำถามในประเด็นนี้อย่างท้าทายและน่าสนใจทีเดียว

บางที Sam Sara อาจจะกำลังนำเสนอเรื่องราวของเจ้าชายสิทธัตถะในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งก็เป็นได้ ตั้งแต่ฉากแรกที่ลามะต้าชิปรากฏตัวคือภาพของนักบวชผอมเกร็งผมเผ้ายาวรุงรัง ดูยังไงก็ไม่พ้นที่จะนึกถึงเจ้าชายสิทธัตถะขณะบำเพ็ญทุกกรกิริยาไปได้ แม้แต่ฉากหนีสึก–หนีบวชที่วนไปมาอยู่ริมน้ำ ดังนั้นจุดสำคัญของท้องเรื่องจึงนำไปสู่ฉากสุดท้ายที่มี dialogue (บทสนทนา) ยาว ๆ ระหว่างเปม่ากับต้าชิ (และอีกเช่นกันเป็นไปได้ไหมว่าเปม่าก็คืออีกความรู้สึกของยโสธราชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ)
dialogue ตรงนี้ได้ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์บุคคลซึ่งอยู่ในสถานะห้ามแตะต้อง (untouchable) ในพุทธศาสนาอย่างท้าทายอีกด้วย ซึ่งบุคคลดังกล่าวก็คือเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้านั่นเอง ! บทสนทนาได้วิพากษ์วิจารณ์การออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะ (ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงตัวต้าชิเองด้วย) ถึงการไม่เห็นใจลูกเมียที่หนีไปบวช มีผู้ชายเท่านั้นที่สามารถทำแบบนี้ได้... ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนว่าในพุทธศาสนาเถรวาทบ้านเรา ยังไม่เคยมีใครหยิบยกเอาเรื่องนี้มาพูดถึงอย่างตรงไปตรงมามาก่อน อย่างไรก็ตามการที่ Sam Sara เป็นหนังที่อิมปอร์ตมาจากต่างประเทศ ไม่ใช่เมดอินไทยแลนด์อย่าง องคุลิมาล ฉบับอังเคิล อีกทั้งเป็นหนังที่อิงอยู่กับพุทธศาสนาวัชรยานแบบทิเบต จึงเป็นภาพยนตร์ที่รอดพ้นจากการถูกประท้วงจากกลุ่มชาวพุทธในเมืองไทยไปอย่างหวุดหวิด เราจึงยังคงหาหนังเรื่องนี้มาดูได้ไม่ยากในรูปของแผ่น VCD แต่ในทางกลับกันหาก Sam Sara เป็นหนังที่สร้างโดยคนไทยและเป็นเรื่องราวของพระสงฆ์ในนิกายเถรวาทแล้วละก็ เราคงคาดเดาชะตากรรมของหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก
แต่สิ่งที่ Sam Sara ทำมากไปกว่าการตั้งคำถามดังกล่าวกับคนดูก็คือ การแปลงบทบาทของผู้หญิงในฐานะ ‘มาร’ มาเป็น ‘ผู้อุปถัมภ์’ ตลอดเวลาบทบาทของผู้หญิงกับศาสนาผู้หญิง มักจะถูกผูกขาดอยู่กับบทบาทของการเป็นมารผู้ทำลายล้างพรหมจรรย์ของผู้ชาย คำพูดของเปม่าในฉากสุดท้ายที่ว่า ‘มีใครบ้างที่พูดว่าท่านตรัสรู้ได้เพราะนาง (ยโสธรา)’ จึงเป็นวาทกรรมที่น่าสนใจวาทกรรมหนึ่งในการสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับผู้หญิง

วาทกรรมดังกล่าว ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่การปรากฏตัวของเปม่าในช่วงต้นเรื่องและท้ายเรื่อง ได้อย่างมีเลศนัยว่าเปม่า (หรือผู้หญิงในสังคมพุทธ) มีตัวตนจริงหรือไม่ เมื่อต้าชิไปร่วมพิธีเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวและได้พักค้างแรมในหมู่บ้านในช่วงต้นเรื่อง เปม่าเข้ามานอนกอดต้าชิจากด้านหลัง โดยคำร้องขอจากลามะอาโป เพื่อต้าชิจะได้คลายจากความปฏิพัทธ์ในอิสตรี ต้าชิเองกลับเพียงแต่รู้สึกว่าตนฝันไป กับฉากท้ายเรื่องเมื่อลามะต้าชิพบเปม่ายืนคอยท่าอยู่หน้าประตูทางเข้าวัด เธอรำพึงรำพันกับเขาอยู่นานก่อนจะจากไปพร้อม ๆ กับสายลม ฉากนี้คนดูเกือบจะสงสัยได้ทันทีว่า แท้จริงแล้วเปม่ามีตัวตนจริงหรือไม่ หรือตลอดมาเปม่าเป็นเพียงภาพในความฝัน ที่สอนให้ต้าชิรู้จักสุขและทุกข์ยามมีชีวิตคู่อยู่ด้วยกันเพียงเท่านั้น

นั่นก็คงคล้าย ๆ กับภาพในความเป็นจริงของบทบาทผู้หญิงในสังคมพุทธเถรวาทของเรา นอกจากบทบาทของผู้หญิงจะถูกผูกขาดให้เป็นนางมารร้ายแล้ว หากผู้หญิงจะมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนศาสนาอยู่บ้างละก็ บทบาทของพวกเธอก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่จะต้องเข้าไปทำอะไรอยู่ท้ายครัวที่เกี่ยวข้องกับการหุงต้มหาอาหาร หรือไม่ก็มักจะแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือเบื้องล่างอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ค่อยมีโอกาสออกมายืนอยู่แถวหน้ามากนัก ที่เห็นได้ชัดก็คงจะเป็นเรื่องแม่ชี–ภิกษุณีที่ยังคงเรื้อรังอยู่กับเรื่องการยอมรับและการส่งเสริมสถานภาพ ส่วนที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสังคมการทำงานของฆราวาสในเวลานี้ก็คือ การลางานที่ผู้ชายเองมีโอกาสลางานไปบวชได้ ๓ เดือนในขณะที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสลาไปเช่นนั้นแต่จะมีโอกาสลาได้ ๓ เดือนในกรณีคลอดลูกซึ่งก็ยังหนีไม่พ้นการลาที่เกี่ยวดองอยู่กับบทบาทความเป็นแม่ (หรือเมีย) นั่นหมายความว่าถ้าผู้หญิงไม่ท้องเธอก็จะไม่มีโอกาสได้ลา ๓ เดือนและถึงแม้จะได้ลา ๓ เดือนจริงก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือการได้ลาไปปฏิบัติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม สุดท้ายผู้หญิงอาจมีตัวตนอยู่เพียงแค่จินตนาการแห่งความรู้สึกเช่นเดียวกับที่ต้าชิรู้สึก ซึ่งก็คือมีตัวตนที่ไม่ต่างจากเปม่าที่ถูกทำให้ดูก้ำกึ่งว่าเธอมีตัวตนจริงหรือไม่ ทั้งในตอนต้นเรื่องและท้ายเรื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า ต้าชิจะทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้โดยไม่ต้องปรึกษาหารือก่อน ดังเช่นการหนีกลับไปเป็นลามะในตอนท้ายเรื่อง หรือแม้แต่การลักลอบเป็นชู้กับสุชาดา
บทบาทของหญิงชายที่ถูกสังคมกำหนดมาให้อย่างตายตัวเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อวิธีคิดวิธีปฏิบัติต่อกันและกันของสามีภรรยาไปด้วย ซึ่งมีผลสืบเนื่องต่อความสัมพันธ์ของกันและกันในที่สุดอย่างที่คู่ของต้าชิและเปม่าได้ประสบ ในบทสนทนาเรายังได้เห็นความรู้สึกของผู้หญิงอย่างเปม่าในฐานะ ‘เมีย’ ว่าสุดท้ายแล้วเธอเองก็ต้องการให้สามีกลับมายืนเคียงข้างในครอบครัวอยู่ดี แม้สามีจะต้องการการบรรลุธรรมเพียงใดก็ตาม…

บทบาทของต้าชิก็ดูจะเป็นบทบาทของผู้ชายหลุดกรอบจริง ๆ เป็นลามะที่ชอบฝันเปียก ประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติธรรมแล้วยังเป็นฆราวาสที่เอาดีไม่ได้กับชีวิตทางโลก บทบาทการเป็นพ่อที่น่าจะสอนลูกได้ดี (ในฐานะที่บวชเรียนมานาน) เมื่อเทียบกับเปม่าที่ไม่ได้ผ่านการเรียนรู้จากวัดมาก่อนแต่เปม่ากลับสื่อสารธรรมะให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจผ่านวิธีการง่าย ๆ เธอนำกิ่งไม้ทิ้งลงไปในลำธารแล้วสอนว่า ชีวิตคนเราก็เหมือนกิ่งไม้ที่ไหลไปตามลำธารออกไปสู่ทะเล เพื่อเผชิญกับเรื่องราวในชีวิตอีกมากมาย (สายน้ำในฉากนี้ ทำหน้าที่สัมพันธ์กับฉากริมแม่น้ำที่ต้าชิหนีสึก–หนีบวช เปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านชีวิตของคนกับสายน้ำ และยังสัมพันธ์กับปริศนาธรรมในฉากเปิดเรื่อง ‘น้ำเพียงหยดเดียวจะป้องกันเช่นใดมิให้เหือดแห้ง’ คำตอบในฉากสุดท้ายที่ว่า ‘ต้องเทมันลงสู่ทะเล’ จึงหมายถึงคนเราต้องเปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่ประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ (อาจหมายถึงการบรรลุธรรม) จึงจะรักษาน้ำ (คือปัญญา) หยดนั้นไว้ได้ น้ำจึงไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนผ่านเพียงอย่างเดียวแต่อาจหมายถึงปัญญาด้วย)
เธอปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ความหนาวเอาเองเมื่อลูกออกไปเล่นหิมะข้างนอก เธอใช้เวลาทำของเล่นให้ลูกเล่นในขณะที่ต้าชิซื้อมาจากในเมือง แม้จะบวชเรียนมานานแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำธรรมะเข้ามาใช้ในวิถีชีวิตได้อย่างเข้าใจ สุดท้ายจึงกลับไปใช้ชีวิตในศาสนาเช่นเดิม… จนวินาทีสุดท้ายเมื่อไม่สามารถตัดสินใจว่า จะเลือกเอาทางใดทางหนึ่งได้ แล้วก็ล้มตัวลงนอนร้องไห้เกลือกกลิ้งไปบนพื้นดิน จนจีวรเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หากเราคาดหวังจะได้เห็นพระสงฆ์ที่ดูดี มีภูมิธรรม สุขุมคัมภีรภาพ พูดธรรมะจับใจออกมาทุกห้านาทีและเป็นพระที่ไม่ร้องไห้เราอาจจะผิดหวังไปกับลามะรูปนี้ อะไรที่เราไม่เคยเห็นในหนังที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเรื่องอื่น ๆ เราแทบจะเห็นได้หมดจากหนังเรื่องนี้แม้แต่ฉากเลิฟซีนที่โจ่งแจ้งและชัดเจน

ถึงแม้ชาวพุทธหลายคนโดยเฉพาะที่มาจากสายอนุรักษ์นิยมจะไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไร เพราะตัวหนังได้พยายามพูดถึงในสิ่งที่ชาวพุทธหลายคนไม่ชอบและออกจะเป็นหนังพุทธที่แหกกรอบด้วยซ้ำ แต่เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบหนังก็ได้ตั้งคำถามสำคัญ ๆ ทิ้งท้ายไว้หลายคำถามเกี่ยวกับประเด็นมิติหญิงชาย (Gender) หรือแม้แต่เรื่องเพศ (Sexuality)

อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าไม่ใช่เถรวาทเท่านั้นที่กำลังคุกรุ่นไปด้วยประเด็นเหล่านี้..



อนุรักษ์ ภาคภูมิ

การบวชพระกับค่าน้ำนม



ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์เป็นต้นมาก็เริ่มเข้าสู่ฤดูการบวชอีกครั้ง เพราะเมืองพุทธที่เป็นเมืองเกษตกรรมอย่างเมืองไทยถือว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ว่างจากการทำไร่ไถนา ชาวบ้านทั่วไปจึงนิยมบวชลูกชายกันในช่วงเวลานี้ถึงแม้หลายส่วนของประเทศไทยจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมไปแล้วแต่ประเพณีการบวชพระในเดือนเมษายนก็ยังมีอยู่และจะมีชุกไปจนถึงก่อนวันเข้าพรรษา
ความคิดความเชื่อตามแบบพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยบอกกับคนไทยมาช้านานว่าการบวชพระเป็นการทดแทนค่าน้ำนมแม่ จึงเป็นประเพณีนิยมสืบทอดกันมาว่าชายไทยเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีต้องบวชพระ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคำบอกเล่านี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎก เราจึงพบว่าแท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าก็มิได้ตรัสเอาไว้เช่นกันว่าการบวชพระเป็นการตอบแทนค่าน้ำนม ความคิดความเชื่ออันนี้จึงเป็นสิ่งที่บอกเล่าสืบต่อกันมาและเป็นเรื่องของประเพณีนิยมมากว่าจะเป็นเรื่องของคำสอนในศาสนา
ความคิดความเชื่อเรื่องการบวชเพื่อทดแทนค่าน้ำนมจึงเป็นสิ่งที่ควรกลับมาตั้งคำถามกันว่าถ้าเช่นนั้นการที่ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีก็น่าจะตอบแทนค่าน้ำนมได้ แต่ปรากฏว่าพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยก็ไม่ได้มีความคิดความเชื่อเช่นนั้น จึงเป็นที่น่าสงสัยตามมาว่าถ้าเช่นนั้นการตอบแทนค่านมสำหรับคนที่เกิดมาเป็นลูกสาวจะมีวิธีการอย่างไร เพราะการบวชเป็นชีก็ถูกให้ค่าว่า ‘อกหัก’ ไปเสียแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะสังคมไทยไม่มีการบอกวิธีตอบแทนค่าน้ำนมสำหรับลูกสาวจึงทำให้เด็กสาวจำนวนหนึ่งต้องถูกจับส่งไปขายตัวเป็นโสเภณีโดยมีพ่อแม่เป็นฝ่ายนำไปขายเพราะคิดว่านี่เป็นวิธีการตอบแทนค่าน้ำนมของลูกสาว
‘บุญคุณ’ ในค่าน้ำนมของแม่ได้ถูกยกขึ้นมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการบวชพระของลูกชายจึงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามตามมาว่าแล้วบุญคุณของพ่อหายไปไหนเพราะดูเหมือนว่าบุญคุณของพ่อจะไม่ได้มีอยู่ในสารบบของสังคมไทย และหากครอบครัวใดมีแต่ลูกสาว ๆ จะมีวิธีตอบแทนค่าน้ำนมแม่อย่างไร อีกทั้งหน้าที่ของลูกสาวก็ไม่ได้ถูกกำหนดให้ต้องปฏิบัติภาระกิจด้วยการโกนหัวบวชเหมือนกับลูกชาย โดยที่เนื้อตัวของผู้หญิงถูกผูกไว้กับค่านิยมว่าผู้หญิง ‘ต้องสวย’ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้อยู่ว่าเหตุใดบทบาทของผู้หญิงกับพื้นที่ในศาสนาจึงไม่ได้มีเท่ากับผู้ชาย ดังนั้นการโกนหัวบวชของผู้ชายเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมแม่จึงมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะไปกำหนดให้ผู้หญิงต้องละทิ้งความสวยของตนเองแล้วโกนหัวห่มเหลืองซึ่งดูเป็นเรื่องยุ่งยาก
ภารกิจของลูกชายที่จะต้องโกนหัวบวชพระเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมก็ยังสัมพันธ์กับพื้นที่ในบ้าน-นอกบ้าน การบวชพระเป็นการออกไปสู่พื้นที่นอกบ้าน พื้นที่นอกบ้านที่ผู้ชายสามารถไปผจญอะไร ๆ ได้ทุกที่ได้อย่างปลอดภัยในขณะที่ผู้หญิงถึงจะไปข้างนอกบ้านได้แต่ก็ต้องกลับบ้านก่อนตะวันตกดิน ผู้หญิงไม่ได้ถูกเปิดโอกาสให้ออกไปเผชิญโลกข้างนอกมากนักตามคติของสังคมไทย (ถึงแม้ปรากฏการณ์ตรงนี้จะเปลี่ยนไปบ้างแล้วแต่ความคิดความเชื่อต่อประเด็นนี้ก็ยังคงมีอยู่ในหลาย ๆ บริบทของสังคมไทย)
ถ้าเช่นนั้นพื้นที่ของผู้หญิงคืออะไร ? ผู้หญิงถูกบล็อคให้อยู่กับพื้นที่ในบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในครัวเรือนที่จะต้องสรรหาอาหารและทำงานบ้าน ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงบวชเป็นพระได้ก็จริงแต่เมื่อพุทธศาสนาในเมืองไทยได้กลายเป็น ‘พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย’ ไปแล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะมีโอกาสบวชเพื่อทดแทนค่าน้ำนมแม่ แม้สังคมไทยจะมีการบวชชีแต่เราก็พบว่าการบวชชีก็คือการผลักผู้หญิงให้กลับเข้าไปอยู่ในครัวเพื่อทำหน้าที่รับใช้อยู่ดี และการบวชเป็นชีก็แทบไม่มีบทบาทอะไรต่อพุทธศาสนาหรือเป็นหน้าเป็นตาให้ครอบครัว อีกทั้งศาสนาก็มักมีมุมมองต่อเพศหญิงว่าเป็น ‘มาร’ โอกาสที่ผู้หญิงจะเข้าไปทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณในพื้นที่ศาสนาจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
ในเวลาเดียวกัน ‘น้ำนม’ ได้ถูกให้ค่าเพื่อตอกย้ำความคิดความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่ดีต้องสวมบทบาทความเป็นเมียและแม่ด้วยการมีสามีและมีลูก (ซึ่งแสดงออกถึงบทบาทผู้หญิงกับพื้นที่ในบ้านอย่างเห็นได้ชัด) ที่สำคัญต้องมีลูกเป็นผู้ชายด้วยเพราะการมีลูกสาวยังไม่ใช่เรื่องที่เชิดชูความเป็นแม่นัก เนื่องจากลูกสาวไม่สามารถบวชพระเพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับแม่ได้ แม้แต่การมีลูกเป็นกะเทยก็เช่นเดียวกัน รากเหง้าของความคิดนี้ทำให้พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนต้องพลอยเสียอกเสียใจไปด้วย พ่อแม่บางคนถึงกับโทษตัวเองว่าเพราะตนเองเลี้ยงลูกไม่ดีด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่านี่คือระบบการจัดการกับบทบาทหญิงชายภายใต้ระบบโครงสร้างสังคมที่ถือเอาชายเป็นใหญ่
ประเพณีการบวชเพื่อทดแทนค่าน้ำนมในพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยจึงอาจไม่ใช่ประเพณีที่เกิดขึ้นมาลอย ๆ แต่ได้บรรจุเอาความคิดความเชื่อที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของเพศชายและเพศหญิงไว้อย่างเป็นรหัสนัยที่แยบยลและไม่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ตั้งคำถาม
ด้วยเหตุนี้เองประเพณีการบวชลูกชายของชนชั้นกลางในสังคมไทยสำหรับบางครอบครัวจึงต้องใช้ต้นทุนในการจัดงานสูงเป็นแสน ๆ บาท (ซึ่งดูเป็นเรื่องสิ้นเปลืองอย่างไรชอบกล) ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องของความเป็นหน้าเป็นตาที่ครอบครัวนั้นมีลูกชายที่สามารถบวชพระได้เพียงเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนและตอกย้ำบทบาทของการเป็นผู้หญิงดีที่มีลูกเป็นเพศชายได้ด้วย บ่อยครั้งที่ตัวผู้หญิงเองก็เป็นฝ่ายทำให้โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่นั้นดำรงอยู่แม้จะหมดเงินเป็นแสนก็ตาม.



วรธรรม
(‘สร้อยทองสาร’ ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗)

Sex phone : จินตนาการผ่านสายโทรศัพท์


เรื่องราวของผู้หญิงจำนวนหนึ่งหันมาให้บริการ ‘เซ็กส์โฟน’ กลายมาเป็นประเด็นร้อนทางหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางฉบับ (คมชัดลึก ๒๓ มี.ค. ๒๕๔๗) เมื่อหญิงสาวใช้วิธีโพสข้อความเสนอขายบริการพูดคุยทางโทรศัพท์ผ่านเว็บไซต์ ๆ หนึ่งด้วยข้อความ ‘สำหรับชายขี้เหงาและอยากเสียว’ โดยทิ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ให้ติดต่อกลับ เมื่อลูกค้า(ผู้ใช้บริการ)โทรหาฝ่ายหญิง ๆ จะให้ลูกค้า(ผู้ใช้บริการ) โอนเงินจำนวนหนึ่งเข้าบัญชีของตนเพื่อเป็นค่าบริการจ่ายล่วงหน้า เมื่อมีการโอนเงินเสร็จเรียบร้อยการให้บริการปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศผ่านการคุยทางโทรศัพท์ก็เริ่มต้นขึ้น โดยที่กลวิธีการให้บริการเซ็กส์โฟนของหญิงแต่ละคนก็มีวิธีการคล้าย ๆ กันในลักษณะนี้

ปรากฏการณ์เซ็กส์โฟนในลักษณะดังกล่าวทำเอาผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงวัฒนธรรมรวมทั้งตำรวจออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าเซ็กส์โฟนเป็นสิ่งที่ขัดกับวัฒนธรรมไทยและอาจก่อให้เกิดความรุนแรงทางเพศตามมา ในขณะที่หมอพันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าหากมองในแง่ดี เซ็กส์โฟนเป็นทางออกในการเพิ่มรายได้ให้กับหญิงสาวโดยไม่ต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัว อีกทั้งยังช่วยให้ชายหนุ่มที่มีปัญหาได้มีทางออกในการพูดคุยเรื่องเซ็กส์กับผู้หญิงที่เต็มใจ

อันที่จริงหากมองในแง่ดีอย่างที่หมอพันธ์ศักดิ์พูดก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเซ็กส์โฟนเป็นแค่เซ็กส์ที่อาศัยจินตนาการผ่านเสียงพูดทางโทรศัพท์และเป็นบริการทางเพศที่น่าจะปลอดภัยที่สุดในเวลานี้ เพราะไม่ได้เกิดการร่วมเพศกันจริงแต่อาศัยจินตนาการพาไปให้ถึงดวงดาว ดังนั้นจึงไม่น่ากังวลว่าจะเกิดการตั้งท้องและไม่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการแพร่กระจายของโรคเอดส์อย่างที่สังคมกำลังหวาดกลัวกันอยู่ในเวลานี้ อีกทั้งเซ็กส์โฟนยังช่วยให้ผู้คนจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสปลดปล่อยจินตนาการทางเพศของตนได้โดยอิสระ เพราะคนจำนวนหนึ่งที่ว่านี้ไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำรวมทั้งไม่มีโอกาสทำในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับอันประกอบไปด้วยเซ็กส์ที่นอกกรอบหลากหลายรูปแบบที่สังคมไม่ได้มีพื้นที่ไว้ให้แม้แต่จะได้ยินหรือรับฟัง (แม้แต่ ‘เซ็กโฟน’ โดยตัวมันเองก็เป็นรูปแบบของเซ็กส์ที่สังคมไม่ได้ให้การยอมรับอยู่แล้ว) เซ็กส์โฟนจึงเป็นวิธีการปลดปล่อยจินตนาการทางเพศที่มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยจากการถูกตรวจตราจากสังคมเป็นอย่างดี

ทำไมจึงบอกว่าการได้ปลดปล่อยจินตนาการทางเพศเป็นเรื่องดี ? ก่อนอื่นผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้หลุดออกมาจากกรอบความคิดเรื่อง ‘กามสุขัลลิกานุโยค’ (การประกอบตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุข) เสียก่อน หาไม่แล้วอาจจะไม่เข้าใจว่าข้อเขียนชิ้นนี้กำลังสื่อสารอะไรกับคนอ่าน

มนุษย์นั้นมีจินตนาการอยู่หลายเรื่องด้วยกัน จินตนาการช่วยให้มนุษย์มีความสุขหากจินตนาการนั้นได้รับการยอมรับและแสดงออกโดยไม่ถูกตัดสินจินตนาการนั้นจะมีส่วนช่วยให้มนุษย์มีกำลังใจในการดำรงชีวิตรวมทั้งมีพลังสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ แต่จะมีจินตนาการอยู่ประเภทหนึ่งที่มักจะไม่ได้รับการยอมรับนั่นก็คือจินตนาการที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เราจะเห็นได้ว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือโป๊ นิยายอิโรติค ภาพเปลือยเปล่าของคนทั้งผู้ผลิตและผู้ที่ครอบครองมักจะถูกปฏิเสธและมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นต้นเหตุของความเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี ซึ่งมันอาจจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้ .. (เขียนอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนสนับสนุนให้มีภาพโป๊ในที่สาธารณะซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน)

สิ่งที่เราพอจะทราบกันดีอยู่ก็คือมนุษย์เมื่อเจริญเติบโตมาถึงช่วงวัยหนึ่งของชีวิตก็ต้องมีการเจริญเติบโตทั้งทางเพศ ทางสรีระ อารมณ์ ความรู้สึก มีจินตนาการต้องการการแสดงออกทางเพศ ช่วงชีวิตที่ว่าก็คือช่วงวัยรุ่นเป็นต้นมาจนกระทั่งวัยชราที่ความเจริญทางเพศในบางคนก็ไม่ได้ร่วงโรยไปตามวัย

เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะพบว่ามนุษย์เรียนรู้ที่จะสอดแทรกจินตนาการเรื่องเพศของตนลงไปในศิลปะแขนงต่าง ๆ มนุษย์หลายยุคหลายสมัยหลายสีผิวต่างก็มีจินตนาการในเรื่องเพศที่แตกต่างพิสดาร จินตนาการดังกล่าวได้แทรกซึมอยู่ในศิลปะหลายแขนงของพวกเขาทั้งที่แอบแฝงและแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง ศิวลึงค์และโยนีเป็นตัวอย่างที่ดีของจินตนาการเรื่องเพศที่ปรากฎผ่านออกมาบนพื้นที่ศาสนา

จินตนาการเรื่องเพศในสังคมไทยก็เช่นเดียวกัน เพลงพื้นบ้านของไทยในหลาย ๆ ภาคมีบทเกี้ยวพาราสีระหว่าง
หญิงกับชายที่ออกจะโจ่งแจ้งและบางครั้งก็ออกสองแง่สองง่ามสับประดี้สัปดน ลิเก ลำตัด หมอรำ ตลก จำอวด ฯลฯ ผู้แสดงมักนำเอาเรื่องใต้สะดือมาโต้ตอบกันอย่างสนุกสนานและไม่ได้สนุกสนานเฉพาะคนแสดงเท่านั้นคนดูก็พลอยครื้นเครงตามไปด้วย

งานวัดแถบต่างจังหวัด (โดยเฉพาะภาคอีสาน) ลองไปดูเถิดดึก ๆ หน่อยจะมีรายการเต้นจ้ำบ๊ะแสดงออกด้วยลีลาท่าทางประกอบกิจทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง (แต่ไม่เปลือย-ขอบอก) ลูกเล็กเด็กแดงถ้าไม่หลับหน้าเวทีไปเสียก่อนคงต้องได้เห็นการแสดง ‘อย่างว่า’ หน้าเวที

ศิลปะพื้นบ้านที่มีเรื่องใต้สะดือหรือจินตนาการเรื่องเพศแทรกซึมอยู่เช่นนี้จะให้เข้าใจว่าอย่างไร พอเราเข้าไปในวัดเราพบจิตกรรมฝาผนังโบสถ์ที่มักจะมีภาพเชิงสังวาสปรากฏให้เห็นบ่อย ๆ อีกทั้งเพลงร่วมสมัยของสุนทราภรณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงสากลอมตะนิรันดร์กาลมาตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่ายังวัยรุ่น ก็ยังได้พบกับเนื้อหาของเพลงที่พูดถึงบทอัฒจรรย์อย่างตรงไปตรงมา (เนื้อหาเพลงบางท่อนที่พอจะจำได้ก็คือ ‘เสียแรงรักใคร่ เสียแรงสมสู่…’ อะไรประมาณนี้) ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าสังคมไทยเองก็มีจินตนาการในเรื่องเพศแทรกซึมอยู่ในศิลปะแขนงต่าง ๆ มานานแล้วอย่างไร

ผู้เขียนเชื่อว่าสังคมไทยกับเรื่องเพศไม่ได้แยกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิงเหมือนอย่างที่หลาย ๆ คนกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันในเวลานี้ว่าเพศเป็นเรื่องที่ขัดกับวัฒนธรรมไทย แต่สังคมไทยกับเรื่องเพศเป็นอะไรที่แทรกซึมและควบคู่กันมาตลอดเพียงแต่เราจะตั้งใจมองให้เห็นหรือไม่เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามเพศก็เป็นสิ่งที่คอยกดดันมนุษย์ให้มนุษย์มีความต้องการในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่มนุษย์ก็มีอคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ แล้วนำเอาอคติเหล่านั้นมาใช้กดขี่มนุษย์ด้วยกันไม่ให้แสดงออก (โดยคิดว่าเป็นความหวังดี) เพศที่เราคิดว่าเรามีความเข้าใจดีแต่เอาเข้าจริง ๆ เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเพศเอาเสียเลย จินตนาการที่มนุษย์มีต่อเรื่องเพศได้ถูกริดรอนราวกับว่าเรากำลังกลับไปสู่ยุคเผด็จการณ์ที่มองอะไรได้เพียงด้านเดียว คนเห็นต่างเป็นคนผิดที่ควรถูกลงโทษ การที่จินตนาการของคนถูกควบคุมอย่างน้อยก็ทำให้คนต้องรู้สึกกดดันที่จินตนาการบางเรื่องราวของเขาไม่ได้รับการยอมรับ

ประเด็นที่พูดว่าเซ็กส์โฟนจะทำให้เกิดความรุนแรงทางเพศนั้น อาชญากรที่ก่อคดีข่มขืนไม่เคยออกมาสารภาพเลยว่าเป็นเพราะตนเองมีเจตนาข่มขืน เป็นเพราะตนเองสะใจที่ได้เห็นคนอื่นต้องเจ็บปวดจากการกระทำของตน แต่อาชญากรมักจะโทษสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเพราะหนังสือโป๊เป็นเพราะ VDO เปลือย คนเรามีแนวโน้มว่าจะโทษสิ่งแวดล้อมกันอยู่แล้วเพราะการโทษสิ่งแวดล้อมทำให้ตัวเราดูดีและปลอดภัย แต่มนุษย์ก็มีทางเลือกเหตุใดอาชญากรทั้งหลายจึงไม่เลือกที่จะสำเร็จความใคร่ตนเองแต่กลับเลือกที่จะใช้พละกำลังทำการข่มขืนเหยื่อ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องหันมาจับประเด็นกันใหม่

เซ็กส์โฟนจึงอาจไม่ได้เป็นเรื่องเสื่อมเสียศีลธรรมอย่างที่เราเข้าใจกันแค่ด้านเดียวก็ได้ แต่เป็นทางออกของจินตนาการทางเพศของผู้คนจำนวนหนึ่งในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยให้จินตนาการทางเพศของคนมิดชิดและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และคงไม่ได้แตกต่างไปจากการละเล่นศิลปะเพลงพื้นบ้านของเราเองที่มีเรื่องราวทำนองนี้ปะปนอยู่ แต่ยังช่วยให้ผู้คนได้ปล่อยอารมณ์ไปกับมันอย่างครื้นเครงอย่างที่เคยเป็นมา…



ธาราธรรม

เซ็กส์สิกขา 5 : "เพศ" คือ การแสดงออกในพื้นที่ทางสังคม


เพศ เป็นเรื่องของการแสดงออกว่าคุณกำลังแสดงบทบาทอะไรหรือกำลังทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องเพศในพื้นที่ทางสังคมทั้งในที่สาธารณะและในพื้นที่เฉพาะ ยกตัวอย่างเรื่องของ ‘นพ’ นพเป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาหางานทำในเมือง นพมีลูกมีเมียแล้วแต่ด้วยความที่ฐานะยากจนในที่สุดนพก็หันไปยึดอาชีพขายบริการทางเพศซึ่งเป็นการขายบริการให้กับผู้ชายด้วยกัน อาศัยว่านพเป็นชายหนุ่มที่มีรูปร่างหน้าตาดีทำให้นพมีรายได้งามกับอาชีพทางนี้ เงินที่นพได้มาก็นำไปเลี้ยงลูกเมียให้อยู่เป็นสุขสบาย
เมื่อนพเข้าประจำการในบาร์เกย์ยามค่ำคืนมีแต่ลูกค้าที่เป็นชายเกย์แวะเวียนเข้ามาใช้บริการ ที่นั่นจัดเป็นสังคมเล็ก ๆ สังคมหนึ่งและค่อนข้างเป็นสังคมที่ปิดเฉพาะรู้กันในหมู่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อย่างน้อยที่สุดผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาต่างก็รู้กันว่านพอยู่ในฐานชายขายบริการทางเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งขายบริการทางเพศให้กับผู้ชายด้วยกัน อัตลักษณ์ทางเพศของนพเวลานี้ในแง่มุมหนึ่งมองได้ว่านพเป็น ‘เกย์’ ในฐานะที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย อีกทั้งอยู่ในพื้นที่ทางสังคมที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นที่เฉพาะทางสำหรับชาวเกย์ ในขณะที่พฤติกรรมทางเพศที่ซ้อนทับอยู่ในตัวตนของนพอีกชั้นหนึ่งก็คือนพกำลังเอาเนื้อตัวร่างกายและเครื่องเพศของตนออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการกับผู้ชายมากมายในฐานะผู้ให้บริการแก่ลูกค้า
เมื่อนพกลับไปบ้าน บ้านก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่บ่งบอกถึงสถานภาพของบุคคลรวมไปถึงตัวตนทางเพศของบุคคล ที่นี่นพเป็นทั้งสามีของเมียและพ่อของลูก และในที่สุดนพก็อยู่ในฐานะ ‘ผู้ชายรักต่างเพศที่มีครอบครัวแล้ว’ เมื่อมองจากสองสถานการณ์ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เพศสภาพและการแสดงออกในพื้นที่ทั้งสอง (บ้านและบาร์) ของนพสลับกันไปมา

นพจะเป็นใคร (เกย์ หรือ ผู้ชาย) หรือจะมีพฤติกรรมอย่างไรเกี่ยวกับเพศของตน (เป็นบุคคลผู้มีครอบครัวแล้ว หรือ เป็นบุคคลที่ขายบริการทางเพศ , เป็นบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง หรือ เป็นบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย) จึงขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่นพเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วยว่าคือที่ไหน (บ้าน หรือ บาร์)
ดังนั้น ตัวตนทางเพศของนพจะทำงานสลับกันไปมาท่ามกลาง ๔ อัตลักษณ์ข้างต้น และเป็นอัตลักษณ์ที่เลื่อนไหลไปมาไม่คงที่ขึ้นอยู่กับว่านพไปปรากฏตัวอยู่ที่ไหน มีปฏิสัมพันธ์กับสถานที่แห่งนั้นในฐานะอะไร เพศจึงเป็นเรื่องของการแสดงออกในพื้นที่ทางสังคม ทั้งที่เป็นสังคมย่อย (เฉพาะกลุ่ม) หรือในสังคมใหญ่ (พื้นที่ที่เปิดเผย)
ในกรณีของนพ พื้นที่ที่สลับกันไปมาระหว่างบ้านกับบาร์เป็นปัจจัยตัวหนึ่งในการกำหนดให้เพศสภาพและตัวตนทางเพศของนพไม่คงที่
การปรากฏตัวของหญิงขายบริการบนฟลอร์โชว์ รูดเสาขึ้นลงไปมาก็เป็นเพียงการแสดงออกถึงตัวตนทางเพศว่ามีอาชีพแสดงเซ็กส์โชว์บนฟลอร์ หรือเป็นบุคคลผู้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเพื่อแลกกับเงิน มันคือการประกาศ /หรือการแสดงออก/ ในพื้นที่สาธารณะถึงอัตลักษณ์ทางเพศของความเป็นคนขายบริการ และ/หรือ/โชว์การแสดงทางเพศในพื้นที่เล็ก ๆ แคบ ๆ แห่งหนึ่งเท่านั้น จึงไม่ได้หมายความว่าเธอคนนั้นจะไม่ได้มีตัวตนทางสังคมในรูปแบบอื่น ๆ ในพื้นที่อื่น ๆ
การจัดงานแต่งงานระหว่างชายกับหญิงก็คือการแสดงเช่นเดียวกัน เป็นการแสดง การประกาศในพื้นที่สาธารณะว่าบุคคลสองคนนี้ตกลงปลงใจเป็นสามีภริยากัน กำลังจะเป็นบุคคลผู้มีเพศสัมพันธ์ร่วมกันในอนาคตอันใกล้ (หรืออาจจะเคยมีเพศสัมพันธ์กันมาก่อนแล้ว ?) เป็นการแสดงว่าบุคคลสองคนนี้มีพันธะสัญญาของความเป็นคู่รักของกันและกันและไม่ใช่คนโสดอีกต่อไป
การเดินพาเหรดของชาวเกย์ที่ถนนสีลมก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการแสดงออกทางเพศอย่างเป็นทางการก็ว่าได้ ประกาศว่า ‘ข้าคือผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน’ โดยไม่ต้องมีคำอธิบายที่ยืดยาว หรือการออกมาเปิดเผยตัวเองของผู้หญิงที่รักผู้หญิงในโทรทัศน์นั่นก็คือการประกาศอย่างเป็นทางการในพื้นที่สาธารณะว่า ‘ฉันชอบผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย’
แม้แต่พระสงฆ์ก็เป็นบุคคลที่ไม่พ้นจะต้องเป็นผู้แสดงออกในเรื่องเพศเช่นเดียวกัน คือแสดงออกในแง่มุมที่ว่าเป็นบุคคลที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ถาวรตลอดไปจนกว่าจะสละผ้าเหลือง
มนุษย์ทุกผู้ทุกคนยุ่งเกี่ยว ข้องแวะ ปฏิสัมพันธ์กับการแสดงออกในเรื่องเพศกันทุกคน แสดงตัวตนว่าเป็นกะเทย แสดงตัวตนว่าเป็นทอม เป็นดี้ เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง แสดงตนว่าเป็นโสดหรือมีคู่แล้ว แสดงตนว่าประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีใครที่หนีการแสดงออกในเรื่องเพศไปได้พ้น และไม่ได้หมายความว่าตัวตนทางเพศของบุคคลจะมีเพียงด้านเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เวลา สถานที่ และบทบาทที่บุคคลคนนั้นเข้าไปข้องแวะปฏิสัมพันธ์ด้วย …
นี่แหละเพศคือการแสดงออกในพื้นที่ทางสังคม.