ชื่อคอลัมน์ เซ็กส์สิกขา
ผู้เขียน ฅนนอก
วารสาร เส้นฟาง รายเดือน เริ่มต้นตอนแรกเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗
ชื่อบทความตอนที่ ๑ เพศสามขา
นี่เป็นคอลัมน์ที่จะพาคุณไปสำรวจตรวจสอบและเรียนรู้ใหม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เพศทำไมต้องตรวจสอบ ? ทำไมต้องเรียนรู้ใหม่ ? การเรียนรู้ใหม่แตกต่างอย่างไรกับความรู้แบบเก่าที่เราเคยมี ? เพราะมันมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอนทีเดียวเราจึงไม่ลังเลที่จะเขียนเรื่องราวทำนองนี้ขึ้นมานำเสนอผ่านคอลัมน์เซ็กส์สิกขาในสิ่งพิมพ์ทางเลือกแบบนี้ หาไม่แล้วเราคงหาอ่านเรื่องเพศแบบที่เราเชื่อกันแบบเดิม ๆ เป็นเพศศึกษาแบบเก่าที่หาอ่านได้ตามหนังสือทั่วไปที่มักจะนำเสนอเรื่องเพศภายใต้กรอบวิธีคิดแบบเก่าตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามเวียดนามหรือสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
งั้นเรามาสำรวจตรวจสอบและเรียนรู้ใหม่กันเลยดีไหม…
คำว่า เพศ ที่เราใช้ ๆ กันอยู่ในเวลานี้ปะปนไปด้วยความหมายอย่างน้อยก็ ๓ ความหมายด้วยกัน
๑. เพศ (Sex) ในความหมายของลักษณะอวัยวะเพศว่าเป็นแบบมี ‘องคชาติมีลูกอัณฑะ’ หรือเป็นแบบมี ‘มดลูกมีรังไข่’ หรือเป็นแบบไม่ปรากฏว่าเป็นแบบใดแบบหนึ่ง เพศในความหมายนี้จึงหมายถึงสภาพของอวัยวะเพศเชิงรูปธรรมที่จะบ่งบอกหรือนิยามว่าฅน ๆ นั้นเป็นเพศอะไร ผู้หญิง ผู้ชาย หรือไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด ปัจจุบันเราค้นพบว่าอย่างน้อยเวลานี้อวัยวะเพศของมนุษย์ไม่ได้มีอยู่แค่ ๒ แบบเท่านั้น แต่อาจจะมีถึง ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ แบบ แบบที่ค้นพบใหม่เราไม่ได้จัดพวกเขาให้อยู่ในพวกวิปริตพิกลพิการ ถ้ามันสามารถเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กับการเจริญเติบโตของร่างกายและยังสามารถใช้งานได้ ขับถ่ายของเสียได้ใช้สืบพันธุ์ได้นั่นคงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้เสียเวลาอีกต่อไป เพราะมันไม่ได้ขัดข้องพิกลพิการ เป็นเพียงอวัยวะเพศที่แตกต่างไปจากที่ฅนส่วนใหญ่มีเท่านั้นเอง
เพศในความหมายแรกนี้จึงหมายถึงลักษณะทางรูปธรรมของอวัยวะเพศเพื่อที่จะบ่งบอก นิยามว่าฅน ๆ นั้นเป็นเพศอะไร (หรือไม่จำเป็นต้องเป็นเพศอะไรก็ได้ แค่มีอวัยวะเพศ (Sex) ก็พอ)
๒. เพศวิถี (Sexuality) เพศในความหมายนี้ หมายถึง ระบบความคิดความหมายเรื่องเพศ เริ่มตั้งแต่เรามีความคิดความเชื่อในเรื่องเพศอย่างไรไปจนถึงเราได้ลงมือปฏิบัติการในเรื่องเพศของเราตามความคิดความเชื่อนั้นอย่างไร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ‘เพศวิถี’ หมายถึงความคิดความเชื่อเรื่องเพศตั้งแต่ภาคทฤษฎีไปจนถึงภาคปฏิบัติ ซึ่งในเรื่องเพศวิถีนี้เป็นเรื่องสากลที่มีอยู่แล้วในสังคมแต่ละสังคม เป็นสิ่งที่สังคมให้ค่าหรือมอบคำนิยามให้แต่จะถูกหรือผิดนั้นนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่ฅน ๆ หนึ่งนิยามขึ้นมาก็ได้ นั่นหมายความว่าเพศวิถีไม่ได้มีแค่ชุดความคิดใดเพียงชุดเดียว ในสังคมหนึ่งอาจเต็มไปด้วยเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลายมากมายซ้อนทับหรือขัดแย้งกันอยู่ในสังคมเดียวกันนั้นเองก็ได้ เรื่องเพศวิถีในโลกนี้จึงไม่ได้มีแค่หนึ่งแต่มีอยู่หลายเพศวิถีด้วยกัน เพศวิถีในสังคมหนึ่งที่เชื่อถือปฏิบัติกันมานานก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเสมอไป แต่เป็นสิ่งที่ฅนในสังคมควรหันมาตั้งคำถามเพื่อสร้างความเข้าใจกันใหม่
๓. บทบาททางเพศ (Gender) หรือที่ตอนนี้มีการใช้คำว่า เพศสภาพ เพศภาวะ เพศสถานะ
ในเมื่อมีอวัยวะเพศ (Sex) แล้ว จากนั้นก็มีความคิดความเชื่อต่อการปฏิบัติในเรื่องเพศ (Sexuality) แล้วในที่สุดก็มีการกำหนดบทบาททางเพศ (Gender) ให้
บทบาททางเพศ หมายถึงบทบาทที่สังคมเป็นตัวกำหนดให้เพศนั้น ๆ ต้องปฏิบัติภาระกิจหน้าที่การงานไปตามอวัยวะเพศที่ปรากฏ เช่น มีอวัยวะเพศแบบหนึ่งก็มีหน้าที่แบบหนึ่ง มีอวัยวะเพศแบบหนึ่งก็ให้เล่นของเล่นแบบหนึ่ง มีอวัยวะเพศแบบหนึ่งให้แต่งกายแบบหนึ่ง มีอวัยวะเพศแบบหนึ่งสามารถเข้าไปในสถานที่บางแห่งได้ในขณะที่อวัยวะเพศอีกแบบหนึ่งไม่สามารถเข้าไปได้ เป็นต้น
การมีอวัยวะเพศจึงไม่ใช่แค่เอาไว้ใช้ขับถ่ายหรือสืบพันธุ์เพียงเท่านั้น แต่จะเห็นได้ว่าตัวอวัยวะเพศเองได้นำไปสู่การถูกกำหนดคุณค่า ถูกกำหนดบทบาท ถูกกำหนดหน้าที่ผ่านความคิดความเชื่อทางวัฒนธรรม ประเพณี เชื้อชาติ ภาษาและศาสนาให้เป็นไปในระบบการดำเนินชีวิตประจำวันในแต่ละวันด้วย
นอกจากนี้ ‘บทบาททางเพศ’ ยังหมายถึงความคาดหวังที่มีต่อต่อบุคลิกภาพ อารมณ์ความรู้สึกที่มีในเพศนั้น ๆ ด้วย เช่น คาดหวังว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ เข้มแข็ง ไม่ร้องไห้ ในขณะที่ผู้หญิงต้องอ่อนโยน นุ่มนิ่ม เป็นผู้ตาม ร้องไห้ได้ โดยที่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่ามีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใดที่ผู้ชายผู้หญิงต้องเป็นแบบนั้น
Gender หรือ บทบาททางเพศ จึงมิได้หมายถึงบทบาทต่อการให้กำเนิดเผ่าพันธุ์ตามที่เราเข้าใจกันนัก แต่ Gender กลับกลายเป็นการรวบเอาบาททางเพศในสถานการณ์อื่น ๆ มารวมเข้าไว้ด้วย ซึ่ง Gender ในความหมายนี้นี่เองที่ออกจะสร้างปัญหาต่อบทบาทความเป็นชาย-ความเป็นหญิงของมนุษย์เราในเวลาต่อมา
ดังนั้น เวลาเราพูดถึงเรื่องเพศเรามักจะนำเอาเพศทั้ง ๓ ความหมายมาใช้กันอยู่เสมอและเพศ ๓ ความหมายดังกล่าวได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันไปมาตลอดเวลา แต่ภายใต้การทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันไปมานั้นต่างก็มีทั้งสร้างอคติ ผลิตซ้ำอคติ ดำรงอคติต่อเรื่องเพศให้คงอยู่อย่างต่อเนื่องกลายเป็นเก้าอี้สามขาที่ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงโดยที่เราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
การเรียนรู้ใหม่พร้อม ๆ ไปกับการเข้าไปตรวจสอบเรื่องเพศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะเห็นการแยกตัวออกเป็นสัดส่วน (แต่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน) ของเพศ ๓ ความหมายนี้และเราจะได้เห็นว่ามันทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร
บางทีเราอาจจะบรรลุธรรมผ่านเรื่องเพศใกล้ ๆ ตัวแค่นี้เองก็ได้ …
(จบเซ็กส์สิกขา ตอนที่ ๑)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น