วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

พุทธศาสนากับโรคติดเชื้อ


โดย พระชาย วรธัมโม

พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย กำลังเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายชนิดหนึ่ง ที่อาจจะเลวร้ายกว่าโรคเอดส์ก็เป็นได้ โรคร้ายที่ว่านี้ก็คือโรครังเกียจผู้หญิง (Misogyny Disease)

กรณีวุฒิสมาชิก ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ออกมาตั้งกระทู้กับสังคมว่า ควรถอดป้าย "ผู้หญิงห้ามเข้า" ที่ติดอยู่ตามเจดีย์พุทธสถาน ในจังหวัดภาคเหนือออก เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติกับสตรีเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ชาวเชียงใหม่ไม่พอใจ เพราะถือเป็นการลบหลู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อห้าหมื่นรายชื่อ เพื่อถอดถอน ส.ว.ระเบียบรัตน์ออกจากตำแหน่ง และยังมีการเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งตามมา จน ส.ว.ระเบียบรัตน์ต้องออกมาขอโทษชาวเชียงใหม่ตามข่าว

ย้อนกลับไป 75 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2472) คราวที่นายนรินทร์ ภาษิต พาลูกสาวสองคน (สาระและจงดี) ออกบวชเป็นสามเณรีเพื่อรื้อฟื้นการบวชภิกษุณี สิ่งที่นายนรินทร์ได้รับก็คือ การกล่าวโทษจากสังคมว่า เป็นภัยต่อพุทธศาสนาควรมีการลงโทษถึงประหารชีวิต ในที่สุดสามเณรีทั้งสองก็ถูกจับสึกหลังจากบวชได้ประมาณสองเดือน รวมทั้งถูกตัดสินจำคุกในเวลาต่อมา
แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองจะเกิดห่างกัน 7 ทศวรรษมาแล้ว แต่อาการของโรครังเกียจผู้หญิงก็ไม่ได้ทีท่าที่แตกต่างกันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกีดกันผู้หญิงไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่ศาสนา ซ้ำร้ายต้องถูกลงโทษจากสังคมไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่งหากมีการกระทำที่สังคมเห็นว่าไม่อยู่ในร่องในรอย

อาการรังเกียจผู้หญิงบางที (หรือบ่อยครั้ง)ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรมารองรับก็ได้ แม้จะมีการกล่าวอ้างกันว่าเป็นจารีตประเพณีที่นับถือสืบกันต่อมาเป็นร้อยๆ ปี หรือด้วยการกล่าวอ้างว่า ไม่เคยมีการประพฤติปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะนำเหตุผลดังกล่าวมายืนยันโดยมีรากเหง้าของความรังเกียจเพศเป็นฐานรองรับสนับสนุน

โรครังเกียจผู้หญิงพัฒนาไปไกลมาก ดังนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับผู้หญิงจึงถูกรังเกียจไปด้วย แม้แต่ประจำเดือนซึ่งมักจะถูกอ้างถึงบ่อยๆ ว่า เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้หญิงจึงถูกตั้งแง่รังเกียจมิให้เข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โดยอัตโนมัติ แม้ว่าผู้หญิงหลายคนอาจจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปนานแล้ว แต่ก็ยังถูกห้ามอยู่ดี โดยที่การห้ามผู้หญิงเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นแนวคิดที่มาจากศาสนาฮินดู แต่ก็จัดว่าเข้ากันได้กับพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย เพราะพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยมีมุมมองต่อผู้หญิงว่า เป็นมารมากกว่าจะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่น่าสงสัยว่า เหตุใดผู้หญิงจึงถูกกีดกันอย่างรุนแรงเช่นนี้
แม้แต่ผู้ชายที่มีบุคลิกไปทางผู้หญิงก็จะพลอยถูกกีดกันมิให้มีส่วนร่วมในพื้นที่ศาสนาไปด้วย การห้ามสาวประเภทสองบวชจึงมีรากเหง้ามาจากโรครังเกียจผู้หญิงดังกล่าว

การรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เมื่อมาเจอเข้ากับประเด็น "ห้ามเข้า-ห้ามบวช" จึงดูเหมือนว่าคนทั่วไปจะมองเห็นได้ยากว่า นี่แหละคือความรุนแรงจากการเลือกปฏิบัติแบบเต็มๆ ที่ชัดเจนไปกว่าก็คือ มีการเผาพริกเกลือสาปแช่งและการล่ารายชื่อเพื่อปลดนางระเบียบรัตน์ออกจากตำแหน่ง ส.ว.ที่ดูเหมือนว่า ชาวพุทธที่กำลังเดือดดาลอยู่ในเวลานี้ไม่ได้นำหลักธรรมเรื่องเมตตาและปัญญามาใช้ และดูจะหลงใหลไปกับโทสะที่แวะเวียนเข้ามากระตุกทดสอบ

พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาก็เพื่อจะบอกกับมนุษย์ว่า สรรพสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีผู้ชาย ไม่มีผู้หญิง ความเป็นชายความเป็นหญิงเป็นเพียงสิ่งสร้างทางสังคม ถ้าพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาแล้วกลับส่งเสริมอุปาทานที่มนุษย์ยึดติดนี้ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นชายเป็นหญิงอย่างรุนแรงมากขึ้น หนำซ้ำยังถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงสร้างสังคมที่ยึดถือเอาผู้ชายเป็นใหญ่แล้วกดผู้หญิงให้ต่ำลง

พุทธศาสนานั้นก็คงเข้าสู่การติดเชื้อขั้นโคม่า แม้พุทธศาสนิกชนเองก็คงเจ็บป่วยเข้าขั้นโคม่าไม่แพ้กัน

ไม่มีความคิดเห็น: