วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

การบวชพระกับค่าน้ำนม



ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์เป็นต้นมาก็เริ่มเข้าสู่ฤดูการบวชอีกครั้ง เพราะเมืองพุทธที่เป็นเมืองเกษตกรรมอย่างเมืองไทยถือว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ว่างจากการทำไร่ไถนา ชาวบ้านทั่วไปจึงนิยมบวชลูกชายกันในช่วงเวลานี้ถึงแม้หลายส่วนของประเทศไทยจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมไปแล้วแต่ประเพณีการบวชพระในเดือนเมษายนก็ยังมีอยู่และจะมีชุกไปจนถึงก่อนวันเข้าพรรษา
ความคิดความเชื่อตามแบบพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยบอกกับคนไทยมาช้านานว่าการบวชพระเป็นการทดแทนค่าน้ำนมแม่ จึงเป็นประเพณีนิยมสืบทอดกันมาว่าชายไทยเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีต้องบวชพระ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคำบอกเล่านี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎก เราจึงพบว่าแท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าก็มิได้ตรัสเอาไว้เช่นกันว่าการบวชพระเป็นการตอบแทนค่าน้ำนม ความคิดความเชื่ออันนี้จึงเป็นสิ่งที่บอกเล่าสืบต่อกันมาและเป็นเรื่องของประเพณีนิยมมากว่าจะเป็นเรื่องของคำสอนในศาสนา
ความคิดความเชื่อเรื่องการบวชเพื่อทดแทนค่าน้ำนมจึงเป็นสิ่งที่ควรกลับมาตั้งคำถามกันว่าถ้าเช่นนั้นการที่ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีก็น่าจะตอบแทนค่าน้ำนมได้ แต่ปรากฏว่าพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยก็ไม่ได้มีความคิดความเชื่อเช่นนั้น จึงเป็นที่น่าสงสัยตามมาว่าถ้าเช่นนั้นการตอบแทนค่านมสำหรับคนที่เกิดมาเป็นลูกสาวจะมีวิธีการอย่างไร เพราะการบวชเป็นชีก็ถูกให้ค่าว่า ‘อกหัก’ ไปเสียแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะสังคมไทยไม่มีการบอกวิธีตอบแทนค่าน้ำนมสำหรับลูกสาวจึงทำให้เด็กสาวจำนวนหนึ่งต้องถูกจับส่งไปขายตัวเป็นโสเภณีโดยมีพ่อแม่เป็นฝ่ายนำไปขายเพราะคิดว่านี่เป็นวิธีการตอบแทนค่าน้ำนมของลูกสาว
‘บุญคุณ’ ในค่าน้ำนมของแม่ได้ถูกยกขึ้นมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการบวชพระของลูกชายจึงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามตามมาว่าแล้วบุญคุณของพ่อหายไปไหนเพราะดูเหมือนว่าบุญคุณของพ่อจะไม่ได้มีอยู่ในสารบบของสังคมไทย และหากครอบครัวใดมีแต่ลูกสาว ๆ จะมีวิธีตอบแทนค่าน้ำนมแม่อย่างไร อีกทั้งหน้าที่ของลูกสาวก็ไม่ได้ถูกกำหนดให้ต้องปฏิบัติภาระกิจด้วยการโกนหัวบวชเหมือนกับลูกชาย โดยที่เนื้อตัวของผู้หญิงถูกผูกไว้กับค่านิยมว่าผู้หญิง ‘ต้องสวย’ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้อยู่ว่าเหตุใดบทบาทของผู้หญิงกับพื้นที่ในศาสนาจึงไม่ได้มีเท่ากับผู้ชาย ดังนั้นการโกนหัวบวชของผู้ชายเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมแม่จึงมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะไปกำหนดให้ผู้หญิงต้องละทิ้งความสวยของตนเองแล้วโกนหัวห่มเหลืองซึ่งดูเป็นเรื่องยุ่งยาก
ภารกิจของลูกชายที่จะต้องโกนหัวบวชพระเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมก็ยังสัมพันธ์กับพื้นที่ในบ้าน-นอกบ้าน การบวชพระเป็นการออกไปสู่พื้นที่นอกบ้าน พื้นที่นอกบ้านที่ผู้ชายสามารถไปผจญอะไร ๆ ได้ทุกที่ได้อย่างปลอดภัยในขณะที่ผู้หญิงถึงจะไปข้างนอกบ้านได้แต่ก็ต้องกลับบ้านก่อนตะวันตกดิน ผู้หญิงไม่ได้ถูกเปิดโอกาสให้ออกไปเผชิญโลกข้างนอกมากนักตามคติของสังคมไทย (ถึงแม้ปรากฏการณ์ตรงนี้จะเปลี่ยนไปบ้างแล้วแต่ความคิดความเชื่อต่อประเด็นนี้ก็ยังคงมีอยู่ในหลาย ๆ บริบทของสังคมไทย)
ถ้าเช่นนั้นพื้นที่ของผู้หญิงคืออะไร ? ผู้หญิงถูกบล็อคให้อยู่กับพื้นที่ในบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในครัวเรือนที่จะต้องสรรหาอาหารและทำงานบ้าน ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงบวชเป็นพระได้ก็จริงแต่เมื่อพุทธศาสนาในเมืองไทยได้กลายเป็น ‘พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย’ ไปแล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะมีโอกาสบวชเพื่อทดแทนค่าน้ำนมแม่ แม้สังคมไทยจะมีการบวชชีแต่เราก็พบว่าการบวชชีก็คือการผลักผู้หญิงให้กลับเข้าไปอยู่ในครัวเพื่อทำหน้าที่รับใช้อยู่ดี และการบวชเป็นชีก็แทบไม่มีบทบาทอะไรต่อพุทธศาสนาหรือเป็นหน้าเป็นตาให้ครอบครัว อีกทั้งศาสนาก็มักมีมุมมองต่อเพศหญิงว่าเป็น ‘มาร’ โอกาสที่ผู้หญิงจะเข้าไปทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณในพื้นที่ศาสนาจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
ในเวลาเดียวกัน ‘น้ำนม’ ได้ถูกให้ค่าเพื่อตอกย้ำความคิดความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่ดีต้องสวมบทบาทความเป็นเมียและแม่ด้วยการมีสามีและมีลูก (ซึ่งแสดงออกถึงบทบาทผู้หญิงกับพื้นที่ในบ้านอย่างเห็นได้ชัด) ที่สำคัญต้องมีลูกเป็นผู้ชายด้วยเพราะการมีลูกสาวยังไม่ใช่เรื่องที่เชิดชูความเป็นแม่นัก เนื่องจากลูกสาวไม่สามารถบวชพระเพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับแม่ได้ แม้แต่การมีลูกเป็นกะเทยก็เช่นเดียวกัน รากเหง้าของความคิดนี้ทำให้พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนต้องพลอยเสียอกเสียใจไปด้วย พ่อแม่บางคนถึงกับโทษตัวเองว่าเพราะตนเองเลี้ยงลูกไม่ดีด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่านี่คือระบบการจัดการกับบทบาทหญิงชายภายใต้ระบบโครงสร้างสังคมที่ถือเอาชายเป็นใหญ่
ประเพณีการบวชเพื่อทดแทนค่าน้ำนมในพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยจึงอาจไม่ใช่ประเพณีที่เกิดขึ้นมาลอย ๆ แต่ได้บรรจุเอาความคิดความเชื่อที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของเพศชายและเพศหญิงไว้อย่างเป็นรหัสนัยที่แยบยลและไม่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ตั้งคำถาม
ด้วยเหตุนี้เองประเพณีการบวชลูกชายของชนชั้นกลางในสังคมไทยสำหรับบางครอบครัวจึงต้องใช้ต้นทุนในการจัดงานสูงเป็นแสน ๆ บาท (ซึ่งดูเป็นเรื่องสิ้นเปลืองอย่างไรชอบกล) ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องของความเป็นหน้าเป็นตาที่ครอบครัวนั้นมีลูกชายที่สามารถบวชพระได้เพียงเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนและตอกย้ำบทบาทของการเป็นผู้หญิงดีที่มีลูกเป็นเพศชายได้ด้วย บ่อยครั้งที่ตัวผู้หญิงเองก็เป็นฝ่ายทำให้โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่นั้นดำรงอยู่แม้จะหมดเงินเป็นแสนก็ตาม.



วรธรรม
(‘สร้อยทองสาร’ ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗)

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

By us at the moment to buy more low-down and facts anyway Drop in on us contemporary to grasp more information and facts regarding [url=http://select.compare.com.pl]Kurs pedicure[/url]