วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549
ตามสายน้ำ
อนุรักษ์ ภาคภูมิ
การนำเอาปรัชญาทางพุทธศาสนามาทำเป็นหนัง ในวงการภาพยนตร์บ้านเราดูเหมือนว่าจะพบเห็นไม่บ่อยนัก ล่าสุดที่เพิ่งผ่านตาไปไม่นานก็คือ ‘โอเค เบตง’ พูดถึงโลกสับสนของคนเพิ่งสึกก็ทำได้น่าสนใจดี แต่สำหรับ ‘ตามสายน้ำ’ แล้ว เป็นการนำเอาปรัชญาทางพุทธ มาผูกโยงเข้ากับเรื่องราวความรักของเกย์ ได้อย่างประณีตน่าสนใจและควรเก็บมาพูดถึงไม่น้อย
‘ตามสายน้ำ’ ว่าด้วยเรื่องราวความรักของกฤต (เกย์ที่รู้ตัวชัดเจนว่าเป็นเกย์) ที่มีต่อวิน (เกย์ที่ไม่ค่อยชัดเจนตัวเองว่าเป็นเกย์เท่าไร) เป็นความรักที่ไม่มีโอกาสพัฒนาไปสู่ความรักที่เป็นจริงไปได้ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ จนกระทั่งทั้งคู่พากันไปเที่ยวน้ำตก ที่นั่นกฤตจึงได้ค้นพบสัจธรรมบางอย่างรออยู่
หนังเปิดเรื่องด้วยฉากถวายสังฆทานที่ดูเหมือนว่า จะเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาวพุทธของคนไทยในเวลานี้ได้ดีที่สุด เกี่ยวกับการเข้าวัดเพื่อทำบุญ การกรวดน้ำในฉากนี้เป็นการเริ่มต้นของการใช้ ‘น้ำ’ เป็นสัญลักษณ์ต่อเนื่องไปสู่น้ำในฉากอื่น ๆ อีกหลายฉากในหนัง น้ำที่มีลักษณะของความเป็นธรรมชาติที่เลื่อนไหลไม่หยุดนิ่ง คล้ายกับอะไรบางอย่างที่พ้นไปจากการควบคุมของมนุษย์ เช่นเดียวกับคำสอนของหลวงตาที่บอกว่า อย่ายึดติด โลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ยั่งยืน มีเกิดก็ต้องมีดับ อย่ายึดติดเป็นเจ้าของ ปล่อยเป็นอิสระใจก็จะเป็นสุข
จากนั้นหนังก็เริ่มต้นเล่าเรื่องผ่านการบุกป่าขึ้นไปชมน้ำตก ระหว่างกฤตกับวินและเพื่อนผู้หญิงอีกสองคน หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของกฤตว่าตนกับวินนั้นรักกัน ทั้งคู่ชอบการท่องเที่ยว ไม่ว่ากฤตจะไปไหนก็ต้องมีวินตามไปด้วยเสมอ แต่ในวินาทีนี้คนดูก็อาจจะเริ่มงง ๆ พร้อม ๆ ไปกับเรื่องเล่าของกฤตตั้งแต่ฉากว่ายน้ำในห้วยที่มีวินเป็นฝ่ายว่ายนำแต่มีกฤตว่ายตาม (ในที่สุดแล้วใครเป็นฝ่ายตามกันแน่ ?) หรือเราจะเห็นได้ว่าขณะที่ภาพในจอหนังกำลังดำเนินไป
วินมีความกระอักกระอ่วนบางอย่างแสดงออกให้เห็นเป็นระยะ เมื่อกฤตตั้งคำถามว่าถ้ามีหมาวิ่งมารุมกัดกฤต วินจะทำอย่างไร วินได้แต่ตอบเรื่อย ๆ แบบไม่ได้ใส่ใจว่า ‘ก็คงจะเข้าไปช่วย’ บางทีวินอาจจะไม่ได้รักกฤตอย่างที่กฤตเล่าให้คนดูฟัง ? ที่ใต้ต้นนุ่นเมื่อกฤตล้มตัวลงนอนกอดวินวินก็รีบตัดบทลุกขึ้นหนีทันที เหตุการณ์ในห้องเรียนที่ทั้งคู่ต้องออกมาแสดงการปฐมพยาบาลคนจมน้ำ เมื่อกฤตแสดงการปฐมพยาบาลแบบเม้าทูเม้ากับวิน กฤตกลับถูกวินผลักจนล้มลงไปนอนกับพื้น แม้แต่สิ่งที่กฤตอธิษฐานก่อนทำบุญ ก็คือขอให้สมหวังในความรักมีความรักที่มั่นคงถาวรตลอดกาล ตอนนี้คนดูคงเริ่มเห็นแล้วว่ากฤตโหยหา ‘ความรัก’ จากวินขนาดไหน
เมื่อเดินเข้าป่าได้ครึ่งทางกฤตดันทุรังจะเดินขึ้นไปจนถึงน้ำตกชั้นสุดท้ายให้ได้ ในขณะที่อีกสามคน เริ่มถอดใจด้วยระยะทางที่ไกลและอันตราย ในที่สุดเพื่อนหญิงทั้งสองคน (คนหนึ่งเป็นแฟนของวิน) ก็แยกตัวกลับก่อนในขณะที่วินตัดสินใจเดินไปเป็นเพื่อนกฤตแต่ก็ไม่วายมีปากเสียงกัน การตัดสินใจเลือกไปกับกฤตแสดงให้เห็นว่าวินเลือกผู้ชายแทนที่จะเลือกไปกับผู้หญิงคือแฟนสาว เหตุการณ์ในหนังดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยมี ‘ภาพย้อนอดีต’ แทรกเข้ามาเป็นระยะเพื่อบอกเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครชายสองคนนี้ ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนและไม่ราบรื่นนัก
ถ้าวินเป็นเกย์ที่ปกปิดความเป็นเกย์ของตัวเอง อย่างที่ผู้กำกับอธิบายให้ฟัง ในเบื้องหลังการถ่ายทำของหนังเรื่องนี้ละก็ตัวละครสองตัวระหว่างกฤตกับวิน ช่างมีอะไรที่แตกต่างกันลิบลับ กฤตสนองตอบความต้องการของตนเองด้วยการไปเที่ยว ‘ห้องมืด’ สถานบริการทางเพศของเกย์ที่ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากัน เพียงแค่ใช้มือสัมผัสกันหากสัมผัสถูกต้องตัวใคร ก็คือคนนั้นที่จะเป็นผู้บำบัดความใคร่ให้กันและกันในค่ำคืนแห่งความหิวกระหาย ในขณะที่วินเสแสร้งสนองตอบความต้องการในเพศเดียวกันของตน ด้วยการหันไปซื้อบริการกับผู้หญิงนั่งชั่วโมงตามบาร์ จนกระทั่งมาเจอกับกฤตยืนเตร่อยู่หน้าบาร์ในคืนหนึ่ง
วินต้องคอยคบหญิงบังหน้าถึงแม้จะต้องประสบกับการแยกทางซ้ำ ๆ ซาก ๆ ภายใต้เหตุผลยอดฮิตที่เขาต้องคอยตอบใคร ๆ ว่า ‘เข้ากันไม่ได้’ และคอยหลีกเลี่ยงคำถามที่เขามักจะถูกถามอยู่เสมอว่าชอบผู้หญิงหรือเปล่าด้วยการเปรย ๆ ว่า ‘ทำไมใคร ๆ ชอบคิดว่ากูเป็นเกย์’ ซึ่งเขาช่างดูวิตกกังวลกับการเป็นเกย์มาก ๆ
กฤตใช้ชีวิตไปตามสบายอยากมีอะไรกับใคร ก็มีแม้แต่กับฝรั่งที่อาจจะรู้จักกันแค่ชั่วข้ามคืน แต่สำหรับวินแล้วเขาเป็นเกย์ที่ต้องคอยปกปิดตัวตน ด้วยการซื้อบริการทางเพศกับหญิงให้คลายความกำหนัดไปวัน ๆ และแม้ว่าทั้งคู่จะเลือกการปลดปล่อยความต้องการทางเพศไปคนละวิถี แต่สิ่งที่ทั้งคู่มักจะมีอะไรทำร่วมกันเสมอคือการเข้าวัดทำบุญด้วยกัน ฉากที่กระแทกใจคนดูไม่น้อยน่าจะเป็นฉากที่สองหนุ่มเข้าไปไหว้พระในโบสถ์ หลังจากค่ำคืนที่ผ่านมาต่างก็มีเซ็กส์ในแบบที่ตนเลือกที่จะปลดปล่อยไปตามความใคร่ของตน หนังทำให้เห็นความขัดแย้งในพฤติกรรมมนุษย์ ระหว่างกิเลสตัณหากับความฝักใฝ่ในความสะอาดบริสุทธิ์ ตัวละครเข้าไปกราบไหว้พระในโบสถ์ในขณะที่ฉากก่อนนี้เรา (คนดู) ได้เห็นพฤติกรรมของตัวละครที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ประพฤตินอกกรอบศีลธรรมทางเพศ’ ที่สังคมวางไว้ บางทีหนังกำลังสะท้อนว่าทั้งตัวละครหรือแม้แต่คนดูเองต่างก็ ‘ร่วมเพศในตอนกลางคืน’ และ ‘เอามือไหว้พระในตอนกลางวัน’ ด้วยกันทั้งนั้น
ในที่สุดเมื่อกฤตเผยความในใจว่าตนเองรักวินและ ณ ที่นั้นมีอยู่กันเพียงสองคน สิ่งที่กฤตเฝ้าหวังมานานก็เกิดขึ้นเมื่อกฤตโผเข้ากอดวินอย่างแนบแน่น แล้วทั้งคู่ก็กลายเป็นของกันและกันท่ามกลางป่าเขาในค่ำคืนนั้นเอง แต่แล้วสิ่งที่ผิดความคาดหมายก็เกิดขึ้นเมื่อกฤตคิดว่าวินจะยอมรับความรักที่ตนมีให้พร้อม ๆ กับการยอมรับตัวเองว่าเป็นเกย์ก็กลายเป็นสิ่งที่วินปฏิเสธผ่านคำพูดว่า ‘ไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้นะ’ (ว่าเรามีอะไรกัน) นั่นทำให้กฤตเริ่มตระหนักรู้ซึ้งถึง ‘ความไม่เที่ยง’ มากยิ่งขึ้น กฤตเริ่มเข้าถึงความจริงอะไรบางอย่าง การมีเซ็กส์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่ละครั้งที่ปราศจากความรักและเยื่อใยผูกพันกัน เหมือนกับคำที่หลวงตาพูดไว้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ยั่งยืน ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดมีดับไม่ต่างจากซากกวางที่เขาพบ
หนังยังพาเราไปร่วมค้นพบสัจธรรมของกฤตผ่านเรื่องราว ‘ไตรภูมิพระร่วง’ บนจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม ตั้งแต่ชั้น กามาวจรภูมิ ภพภูมิที่ยังข้องเกี่ยวด้วยกาม รูปาวจรภูมิ ภพภูมิของเทวดาที่ยังหลงใหลในของทิพย์สรวงสวรรค์ อรูปาวจรภูมิ ภพภูมิของพรหมที่ไร้ตัวตน ภาพเปรียบเทียบกฤตเดินเข้าไปในป่าลึกเพียงคนเดียวเพื่อค้นหาน้ำตกชั้นที่เจ็ด ตอนนี้วินได้หายตัวไปแล้วปล่อยให้กฤตเดินเข้าไปในป่าลึกเพียงลำพัง
และเมื่อกฤตขึ้นมาถึงน้ำตกชั้นสุดท้าย ‘น้ำตกผาช้างชั้นที่เจ็ด’ สิ่งที่กฤตคาดหวังว่าจะได้เห็น กลับกลายเป็นทางน้ำแห้งผากไม่มีน้ำไหลลงมาให้เห็นแม้แต่หยดเดียว มีเพียงต้นน้ำเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่สวยงามอะไร นั่นเองทำให้เขาเข้าใจถึงความไม่เที่ยง ไม่คาดหวังเป็นเจ้าของสิ่งใด และปล่อยวางอย่างเป็นอิสระในที่สุด ที่นั่นกฤตหยิบเอา ‘ดอกไม้แห่งความทรงจำที่มีต่อวิน’ ที่เขาเฝ้าเก็บดอกไม้ใบไม้หลากหลายชนิด (แม้แต่ปุยนุ่น) เอาเก็บใส่สมุดทับไว้ทุกครั้งที่เขาได้ไปไหนมาไหนกับวินจากนั้นก็โปรยมันลอยล่องไปกับสายน้ำ (ฉากนี้คงเป็นที่มาของชื่อเรื่อง) ถ้าใครเคยดู Little Buddha คงนึกถึงฉากโปรยเถ้าอังคารลามะดอเจในทะเลที่ให้ความรู้สึกถึงการพรัดพรากและความอนิจจัง หรือไม่ก็คงรู้สึกคล้าย ๆ กับความรักที่ไม่สมหวังของเตี๋ยอีที่มีให้กับเสี่ยวโหล่วใน Farewell to my concubine หรือนึกถึงตำรวจเกย์ที่ไม่ยอมรับตัวเองว่าเป็นเกย์ใน East Palace West Palace ‘ตามสายน้ำ’ อาจจะรวบรวมเอาความรู้สึกของหนังเกย์หลายเรื่องมารวมกันไว้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้คิดถึงหนังพุทธทิเบตบางเรื่องได้ด้วย
กฤตสามารถยอมรับความรักที่ไม่สมหวังได้ในที่สุด กฤตไม่ได้โหยหาความรักที่นิรันดรสมบูรณ์แบบอีกต่อไป เขายังอุตส่าห์พับกระทงมาเผื่อวินในฉากสุดท้าย วินถามกฤตว่าอธิษฐานอะไร กฤตตอบว่า ‘เปล่าหรอก ฉันไม่ได้อธิษฐานอะไรเลย’ โดยมีผู้หญิงอีกคนนั่งลอยกระทงเคียงข้างวิน
บทจบของหนังเรื่องนี้ถึงจะเป็นความรักที่ไม่สมหวังแต่ก็น่าจะดีกว่าหนังเกย์หลาย ๆ เรื่องที่ผ่านมาที่บทสรุปของหนังเกย์มักจะเป็นโศกนาฏกรรม ไม่เกย์ฆ่าตัวตายก็คงเป็นบ้าเป็นหลังด้วยโรคจิตโรคประสาท ตัวละครกฤตอาจจะโชคดีที่สามารถเข้าถึงสัจธรรม โดยใช้ความรักที่ไม่สมหวังเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ เป็นการเข้าถึงอำนาจภายในที่ไปพ้นจากการตกเป็นเหยื่อ หรือเข้าถึงการบรรลุธรรม (Enlighten-ment) ตามคติทางพุทธศาสนา ในขณะที่ตัวละคร
วินก็คงอยู่กับการปิดบังซ่อนเร้นตนเองทนอยู่กับการไม่พอใจตนเองที่รักเพศเดียวกัน (Homophobia) อีกต่อไป (ตกเป็นเหยื่อของอคติทางสังคม) แต่ความรักที่ไม่สมหวังในหนังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่อธิบายได้ว่า เพราะเป็นความรักที่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าฝ่ายหนึ่งยังไม่สามารถยอมรับใน sexuality (ระบบความคิดความหมายเรื่องเพศ) ของตัวเองได้ ความรักจึงไปไม่ถึงดวงดาว
อะไรทำให้เกย์อย่างวินยอมรับตัวเองไม่ได้ ถ้าให้ตอบตรงนี้ก็คือเป็นเรื่องของกรอบวิธีคิดทางสังคม ที่นอกจากจะมีท่าทีรังเกียจเกย์แล้วยังส่งผลให้เกย์จำนวนหนึ่งรู้สึกรังเกียจตัวเองไปด้วย วินก็คงเป็นหนึ่งในเกย์อีกจำนวนหลายคนที่ต้องคอยปกป้องตนเอง ด้วยการเสแสร้งแกล้งแมนต่าง ๆ นานา หรือแม้แต่คำให้สัมภาษณ์ของผู้ที่แสดงเป็นวิน (ณพงษ์ วิริยะสมบูรณ์) ก็ให้สัมภาษณ์ถึงฉากเลิฟซีนที่แสดงกับ ประกาศิต หอวรรณภากร (กฤต) ว่าพยายามถ่ายเทคเดียวผ่านไม่อยากถ่ายหลายเทค แม้การรับบทเป็นเกย์แอบของ ณพงษ์ เองก็ยังต้องต่อสู้กับอคติอะไรหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับเกย์ทั้งจากภายนอกและภายในตนเอง อย่างที่เขาให้สัมภาษณ์เบื้องหลังการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ในท้ายแผ่น VCD
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าเวลาที่ผู้คนเข้าไปข้องแวะกับอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเกย์ เกย์ เกย์ คนจะเริ่มรู้สึกถึงความไม่สบายเนื้อสบายตัวบางอย่าง ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเกย์หรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่สามารถนำมาอธิบายต่อได้ว่า ทำไมเกย์คนหนึ่งถึงไม่ได้รู้สึกดีไปกับความเป็นเกย์ของตนเอง นั่นเป็นเพราะจิตสำนึกร่วมของสังคม (collective conciousness) คิดและรู้สึกไม่ดีกับเกย์ไปแล้ว เกย์เองก็รับเอาจิตสำนึกร่วมของสังคมนั้นมามีอคติกับตัวเองซ้อนเข้าไปอีกที จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมเกย์อย่างวินจึงยอมรับตัวเองไม่ได้
สิ่งที่คู่รักเกย์ต้องทำมากและอาจจะมากกว่าคู่รักต่างเพศก็คือ การที่ต่างฝ่ายต่างต้องคอยหันมาดูแลฟูมฟักเอาใจใส่พัฒนาการการยอมรับ ตัวตนของความเป็นเกย์ ในคู่ของตนให้มีการเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กันกับความรักที่มีให้กันซึ่งอาศัยการทำบุญที่วัดอย่างเดียวคงไม่พอ คู่รักเพศเดียวกันน่าจะภาคภูมิใจในความรักของตัวเองมาก ๆ ที่¸ªามารถนำพาความรักของตนฝ่าฟันอุปสรรค ที่มากกว่าคู่รักต่างเพศหลายเท่าตัวออกมาได้
สำหรับคู่ของกฤตกับวินเห็นได้ว่า กฤตเองก็พยายามเอาใจใส่และทำทุกวิถีทางให้วินได้เปิดโอกาสยอมรับตัวเองเช่นกัน ยกตัวอย่างตอนที่กฤตเจอวินในบาร์แล้วถามถึงแฟนที่เลิกกัน กฤตถามว่ารักแฟนเก่าที่เลิกกันไหม คำถามนี้เล่นเอาวินบ่ายเบี่ยงที่จะตอบและรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม กฤตถามวินว่ารู้สึกเบื่อบ้างไหมที่มา (หาผู้หญิงใน) บาร์แบบนี้ วินคล้าย ๆ จะเริ่มเห็นตัวเองก็ตอบว่า ‘เบื่อ..แต่ก็โอ.เค.’ หรือตอนที่กฤตไปหาวินที่ห้องแล้วพบว่า วินนอนกับหญิงบริการ จึงถามว่าทำตามใจอยากแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง วินไม่ได้ตอบอะไรได้แต่ยืนนิ่ง ๆ เท่านี้เราก็เห็นแล้วว่า ในที่สุดวินก็ไม่สามารถทะลุกำแพงอคติในความเป็นเกย์ของตนเองออกมาได้ อีกมุมหนึ่งเราจะสังเกตเห็นว่ากฤตรู้อยู่ตลอดเวลาว่าวินเป็น ‘ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย’ และเฝ้าหวังถึงการยอมรับตัวเองของวินตลอดมา รวมทั้งเฝ้ารอการยอมรับความรักที่เขามีให้กับวินด้วยแต่ในที่สุดก็ไร้ผล
อย่างน้อย ‘ตามสายน้ำ’ ก็พยายามโต้ตอบกับสังคมที่ยังมีวาทกรรมเรื่อง ‘รักของเกย์ไม่ยั่งยืน’ โดยอาศัยปรัชญาทางพุทธมาเชื่อมโยงตีความนำเสนออีกแง่มุมหนึ่ง แต่อีกมุมหนึ่งเราจะเห็นว่าหนังก็มีการตั้งคำถามอยู่บ้างเหมือนกันว่า ภายใต้รักของเกย์ที่ไม่ยั่งยืนนั้นเพราะอะไร ? เพราะเกย์ไม่สามารถยอมรับตัวเองใช่หรือไม่ ? แล้วมีอะไรทำให้เกย์ไม่สามารถยอมรับตัวเองได้ ? ใช่หรือไม่ว่าสังคมที่เป็นโฮโมโฟเบียเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้รักของเกย์ไม่ยั่งยืน ?
การนำเอาปรัชญาทางพุทธมาเชื่อมโยงกับความเป็นเกย์ในหนังสั้นเรื่องนี้ นับว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะต้องเอาธีม (Theme) สองธีมมาผสมผสานกันระหว่างปรัชญาพุทธกับความรักของเกย์ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะการนำสองส่วนนี้มานำเสนอให้เกิดความสมดุลย์ และร่วมสมัยซึ่งหนังเรื่องนี้สอบผ่านอย่างน่าชื่นชม ทั้งมุมกล้องที่พยายามตามไปเก็บภาพสถานที่และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ในเมืองไทยมารวมเข้าไว้ในหนังเรื่องนี้ ฉากเลิฟซีนระหว่างผู้ชายกับผู้ชายที่คนทำหนังไทยหลายคน ยังคงปฏิเสธไม่กล้าทำออกมาด้วยเหตุผลร้อยแปดพันประการ
บางทีเราอาจจะเข้าใจเกย์ ยอมรับความรักของเกย์พร้อมกับบรรลุธรรมไปด้วย ภายหลังดูหนังเกย์พุทธเรื่องนี้จบลง..
เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๔
เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๘
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น