วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

ศาสนาและการกดขี่ทางเพศ

ธาราธรรม

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเรามีการพูดคุยกันระหว่างเพื่อน ๔ ศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม และฮินดู กับเพื่อนบ้าน ๙ ประเทศในแถบเอเชียอันมี ไทย ลาว เขมร พม่า อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย โดยมีเราเป็นเจ้าภาพในการจัดหาสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดประชุมพร้อมไปกับการเป็นผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายในมิติศาสนา” หรือ Living our Faith in Community : Towards Gender Justice and Genuine Partnership of Women and Men
©
การพูดคุยครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมตัวแทน ๔ ศาสนาในเมืองปราพัท ประเทศอินโดนีเชียเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วไปสะดุดเข้ากับประเด็นมิติหญิงชาย (Gender) ว่าเป็นประเด็นที่ควรถูกนำมาพูดคุยกันต่อพร้อม ๆ กับการกลับเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างศาสนาที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทางเพศแก่ผู้ที่ถูกกดขี่ให้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นทั้งนี้เพื่อสนับสนุนความเสมอภาคแก่กันและกันอันนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่เท่าเทียม เพื่อการนำคุณค่าและความงดงามที่มีในศาสนามาสร้างความสงบสุขระหว่างเพศให้เกิดมีขึ้นในที่สุด

การกดขี่ต่อผู้หญิง
การประชุมครั้งนี้ทำให้เห็นภาพรวมว่าความจริงแล้วแต่ละศาสนาต่างก็มีรูปแบบการกดขี่ทางเพศที่ไม่แตกต่างกันนักดังเช่น ผู้หญิงในคริสตศาสนาจะไม่ได้รับการเปิดโอกาสให้บวชเป็นพระได้ (เป็นได้แค่ซิสเตอร์หรือแม่ชี) เช่นเดียวกับพุทธศาสนาในเมืองไทยก็ปิดโอกาสผู้หญิงไม่ให้บวชเป็นภิกษุณีแต่โชคยังดีที่ยังสามารถไปบวชมาจากต่างประเทศได้ ในขณะที่เพื่อนหญิงชาวเขมรบอกกับเราว่าผู้หญิงกัมพูชาที่อยากบวชเป็นภิกษุณีแม้จะไปบวชมาจากต่างประเทศก็ไม่สามารถกลับมาอยู่ประเทศบ้านเกิดของตนได้นอกเสียจากจะกลับไปนุ่งห่มสีขาวแบบแม่ชี คล้าย ๆ กับเพื่อนหญิงในพม่าก็บอกเหมือนกันว่าถึงบวชเป็นภิกษุณีมาจากต่างประเทศก็ไม่สามารถนุ่งห่มสีเหลืองได้ ต้องกลับไปนุ่งห่มแบบแม่ชีพม่า (รู้สึกว่าสีของจีวรช่างมีปัญหาจริง ๆ !)
เพื่อนหญิงชาวฮินดูบอกกับเราว่าผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในเทวสถานเพียงเพราะผู้หญิงมีประจำเดือน แน่นอนว่าวิธีคิดแบบฮินดูก็แทรกซึมเข้ามาสู่สังคมพุทธเถรวาทแบบไทยเหมือนกันเพราะโบสถ์ในวัดแถบภาคเหนือของไทยจะมีป้ายแขวนไว้ชัดเจนว่า ‘ห้ามผู้หญิงเข้า’
เพื่อนหญิงมุสลิมจากอินโดนีเชียเล่าให้ฟังว่าเวลาที่เธออยู่ในประเทศของเธอ ๆ จะต้องสวมใส่ชุดที่ปกคลุมร่างกายมากกว่านี้ (ตอนเธอมาสัมมนาที่นี่เธอได้รับการอนุโลมให้สวมกางเกงขายาวแต่ก็ยังต้องคลุมศีรษะด้วยผ้าอยู่ดี) ชุดที่สวมใส่จะคลุมถึงเท้าไม่ให้เห็นแม้แต่ผิวหนังของเท้า เวลาที่เธอขึ้นบันไดไปสอนหนังสือ (เธอเป็นครูด้วย) บ่อยครั้งที่เธอเกือบตกบันไดเพราะเหยียบเอาชายผ้าที่ยาวลากพื้น
เพื่อนหญิงอิสลามคนเดิมยังเล่าถึงผ้าคลุมศีรษะว่าเธอถูกห้ามไม่ให้เปิดผ้าคลุมให้คนอื่นเห็นเส้นผมตั้งแต่เล็ก ดังนั้นจึงไม่มีใครรู้ว่าเธอไว้ผมทรงอะไรนอกจากจะได้เห็นเพียงใบหน้าทรงกลมของเธอ เราถามเธอว่า ‘เราจะมีโอกาสได้เห็นเส้นผมของเธอบ้างไหม’ เธอตอบว่า ‘ฉันอยากเปิดเผยให้คนอื่นได้เห็นทรงผมและหน้าตาของฉันเหมือนกัน แต่ฉันต้องให้เกียรติเพื่อนคนอื่น ๆ ที่เป็นชาวมุสลิมที่มาด้วยกัน’ เธอเล่าเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดจริง ๆ จะไม่มีโอกาสเห็นแม้แต่ใบหน้า จะถูกปิดหมดเหลือเพียงแค่ดวงตา เรากำลังคิดในใจว่าทำไมเพื่อนชายมุสลิมที่มาด้วยกันจึงอยู่ในชุดลำลองสบาย ๆ ไม่ต้องปิดบังอะไรต่างจากเพื่อนหญิงที่มาด้วยกัน

การกดขี่ผ่านวัฒนธรรม
เมื่อพูดถึงการกดขี่ในศาสนาแล้วการกดขี่จากสังคมและวัฒนธรรมเองก็ดูจะเป็นอะไรที่คาบเกี่ยวกันจนบางทีเราก็แยกแทบไม่ออกว่าอะไรคือการกดขี่จากศาสนา อะไรคือการกดขี่จากวัฒนธรรม งานนี้เราจึงไม่ได้พูดคุยกันแค่การกดขี่ทางเพศในศาสนาเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงการกดขี่ที่มาในรูปของสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย เพื่อนหญิงจากพม่าเล่าว่าวันนี้เธอสามารถสวมเสื้อคอกว้างให้เห็นลำคอและไหปลาร้าได้ ถ้าเป็นประเทศของเธอละก็ผู้หญิงจะถูกบอกให้สวมเสื้อปิดหลุมคอให้มิดชิด (ไม่มีโอกาสใส่สายเดี่ยวหรือเกาะอกเหมือนสาว ๆ ในเมืองไทย-อันนี้ข้าพเจ้าเติมเอง) ผู้หญิงพม่าต้องไว้ผมยาวห้ามซอยผมสั้น เพื่อนหญิงชาวอินเดียเล่าว่าวัฒนธรรมการแต่งงานของชาวอินเดียเจ้าสาวต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าสินสอดทองหมั้น เจ้าสาวบางรายถึงกับถูกฆาตกรรมเพียงเพราะเธอจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นไม่ครบตามที่ได้ตกลงกันไว้ และถ้าบ้านไหนมีแต่ลูกสาวก็ลองนึกภาพดูว่าพ่อแม่จะต้องยากจนลงอีกเพียงใดเพราะผู้หญิงอินเดียไม่ถูกเปิดโอกาสให้ไปทำงานนอกบ้านแล้วจะเอาเงินค่าสินสอดมาจากไหน รวมทั้งประเพณีกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามีที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่จริง !
สิ่งที่พวกเรา ๔ ศาสนาจาก ๙ ประเทศมาแบ่งปันกันที่จริงมีมากกว่านี้และมีความสลับซับซ้อนกว่านี้ แต่คงไม่อาจเก็บความมาเล่าได้หมด ฟัง ๆ ไปก็นึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่าผู้หญิงทนให้ถูกกดขี่อยู่ได้อย่างไร ในเวลาเดียวกันก็งงอยู่เหมือนกันว่าผู้ชายเราปล่อยให้ศาสนา สังคม และวัฒนธรรมมากดขี่เพื่อนหญิงกันขนาดนี้ได้อย่างไร และที่เหมือนกันหมดทุกประเทศเลยก็คือทุกประเทศต่างก็มีผู้หญิงถูกข่มขืนด้วยกันทั้งสิ้นจัดเป็นการคุกคามทางเพศยอดฮิต ในกลุ่มย่อยชาวพุทธมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาตั้งคำถามกันว่าแทนที่จะไปข่มขืนผู้หญิงทำไมผู้ชายจึงไม่เลือกที่จะสำเร็จความใคร่ตนเองแทน เพื่อนหญิงในกลุ่มให้คำตอบว่ามันคงไม่เหมือนกัน การข่มขืนทำให้ตัวเองดูยิ่งใหญ่และมีอำนาจเหนือกว่าในขณะที่การสำเร็จความใคร่ดูเป็นเรื่องไม่เข้าท่า…

ประเด็นร้อน
ประเด็นร้อนในการพูดคุยครั้งนี้ที่ต้องเก็บมาเล่าคงเป็นเรื่อง ‘ประจำเดือน’ และ ‘การขายบริการ’ เมื่อผู้หญิงฮินดูถูกห้ามเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธ์เพียงเพราะมีรอบเดือน เพื่อนหญิงชาวฮินดูแสดงความเห็นว่าไม่เห็นแปลกเพราะศาสนาคงไม่ต้องการให้สิ่งที่เป็นคาว ๆ เข้าไปใกล้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างกับเวลามีคนต่อสู้กันด้วยความรุนแรงมีเลือดไหลอาบเราก็คงไม่รู้สึกดีที่ได้เห็น ทำเอาหลาย ๆ คนที่ได้ยินรู้สึกอึ้งเพราะไม่คิดว่าจะได้ยินการเปรียบเทียบทำนองนี้เพราะหลายคนกำลังมองว่าเป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในสถานที่ศักดิ์ ขณะที่ผู้ดำเนินรายการต้องรีบแตะเบรคเพราะเริ่มเห็นว่าบรรยากาศกำลังจะไปสู่ ‘มาคุ’ ทางความเห็น
ประเด็นหญิงขายบริการก็มีคนแปลกใจกันมากเมื่อรู้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้ประนามคนที่ขายบริการทางเพศว่าเป็นพวกผิดศีลธรรม หญิงขายบริการเองก็มีส่วนในการสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างวัดทั้งในพุทธประวัติที่ปรากฏและในกรุงเทพ ฯ ก็มี ‘วัดคณิกาผล’ ให้เห็น อีกทั้งพระพุทธเจ้ายังเปิดโอกาสให้หญิงขายบริการเข้ามาบวชเป็นภิกษุณีและสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงได้อีกด้วย ข้อมูลตรงนี้ทำเอาเพื่อนร่วมประชุมต่างศาสนาหลายคนรู้สึกตื่นเต้นไม่คิดว่าพุทธศาสนาจะใจกว้างปานนี้ แต่เราก็อธิบายให้ฟังว่าในสังคมไทยปัจจุบันก็ไม่ได้เปิดกว้างทางความคิดเหมือนกับปรัชญาทางศาสนา ในโลกของความเป็นจริงสังคมไทยก็ยังคงรังเกียจและมีอคติกับหญิงขายบริการไม่ต่างกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ

เกย์กับภิกษุณี
วันไปดูงานนอกสถานที่ตามตารางเก่าเรานัดกันว่าจะไปเยี่ยมชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ จ. กาญจนบุรี แต่เนื่องจากระยะทางที่ไกลเกินไป จึงมีการปรับเปลี่ยนกระทันหันแต่ก็ยังไม่หลุดไปจากประเด็นมิติหญิงชาย ด้วยการพาไปเยี่ยมชมสวนลุมพินีในกรุงเทพ ฯ พร้อมกับแนะนำว่าสวนลุมพินีแห่งนี้นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนของคนกรุงในวันหยุดสุดสัปดาห์เวลากลางวันแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดพบปะของชาวเกย์ในยามค่ำคืนอีกด้วย
หลังหกโมงเย็นเป็นต้นไปด้านนอกสวนลุม ฯ บริเวณลานพระบรมรูปจะเป็นจุดที่ชายเกย์ขายบริการมาเดินเตร็ดเตร่หาลูกค้าตกลงราคากัน แต่ลึกเข้าไปในเขตสวนสาธารณะด้านในเกือบทุกจุดที่มีม้านั่งหินและสุมทุมพุ่มไม้จะเป็นจุดหาคู่ของชายเกย์ที่ต้องการหาเพื่อนคุยหรือเพื่อนนอนโดยไม่มีใครต้องจ่ายค่าบริการ ขณะที่ถัดออกไปอีกด้านของสวนลุมพินีทางป้ายรถเมล์ของถนนวิทยุจะเป็นจุดหาลูกค้าของหญิงขายบริการไร้สังกัด นี่คือการจัดโซนนิ่งตามธรรมชาติของคนกลางคืนแถวนี้ อย่างไรก็ตามนี่เป็นปรากฏการณ์วัฒนธรรมทางเพศของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถพบปะเปิดเผยตัวตนในที่โล่งแจ้งได้อย่างปรกติ ไม่ว่าจะอย่างไรเราคงไม่อาจปฏิเสธความมีตัวตนและพฤติกรรมทางเพศของพวกเขาเหล่านี้ไปได้ จากนั้นพวกเราก็ไปกันที่ ‘สมาคมฟ้าสีรุ้ง’ เพื่อรับฟังเรื่องราวการกดขี่คนรักเพศเดียวกันในสังคมไทย
ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ตัวแทนจากองค์กร ‘สะพาน’ (ผู้หญิงรักผู้หญิง) บอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกันในเมืองไทยให้ฟังตั้งแต่ห้ามเป็นครู ห้ามบวชพระ ห้ามออกทีวี เหล่านี้เป็นความรุนแรงนอกบ้านไปจนถึงความรุนแรงในบ้านที่เคยมีทอมสาวฆ่าตัวตายเพราะคนในบ้านไม่ให้การยอมรับ หญิงรักหญิงบางคนถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานเพื่อจะได้หายจากการเป็นเลสเบี้ยน
ระพีพันธ์ จอมมะเริง ตัวแทนจาก ‘สมาคมฟ้าสีรุ้ง’ (ผู้ชายชอบผู้ชาย) บอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดกับเกย์ว่า เกย์ที่เป็นชนชั้นล่าง คนขายแรงงาน คนต่างจังหวัดจะมีชีวิตที่ยากลำบาก เมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่จึงใช้ความเป็นเกย์ของตนแลกกับเงินด้วยการขายบริการอย่างที่เราได้ไปสำรวจบางส่วนของสวนลุมพินีมาแล้ว บางคนก็ตัดสินใจไปขายบริการในแหล่งแสงสีมีสังกัดในถนนสีลม สังคมไม่ได้ให้การยอมรับการมีตัวตนของ ‘ผู้ชายที่รักผู้ชาย’ จึงทำให้ชายเกย์จำนวนหนึ่งมุ่งตัวเองไปสู่การแปลงเพศเพราะคิดว่าหนทางที่ดีคือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นหญิงไปเลย นั่นยิ่งทำให้เกิดความซับซ้อนยิ่งขึ้นเพราะการผ่าตัดแปลงเพศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้เงินและเสี่ยงต่อการเจ็บเนื้อเจ็บตัวและก็ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนเพศไปแล้วจะได้รับการยอมรับอย่างง่ายดาย การแปลงเพศอาจเหมาะกับคน ๆ หนึ่งเท่านั้นแต่ไม่ได้หมายความว่าเกย์ทุกคนต้องแปลงเพศ ในขณะที่เกย์ชนชั้นกลางในเมืองก็มักประสบปัญหาการไม่ยอมรับจากพ่อแม่พี่น้อง เกย์หลายคนต้องหลบออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่ออิสระที่มากกว่า เรื่องของเกย์และเลสเบี้ยนจึงเป็นประเด็นที่กระทบต่อระบบความคิดความเชื่อเรื่องเพศชายเพศหญิงที่มีอยู่เดิมของผู้คนในสังคมไทย
จากนั้นพวกเราก็ไปกันที่ วัตรทรงธรรมกัลยาณี เพื่อสนทนาธรรมกับ หลวงแม่ธัมมนันทา ที่นี่หลวงแม่ได้เล่าถึงปัญหาในเมืองไทยว่าคณะสงฆ์ไทยไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ถ้าจะบวชก็ต้องไปบวชจากต่างประเทศแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ เพราะต้องมีวัดเป็นของตนเองรองรับซึ่งวัดส่วนใหญ่ในเมืองไทยก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้มีภิกษุณีเข้าไปพำนักอยู่แล้วเพราะเป็นวัดของพระผู้ชาย สิ่งสำคัญก็คือภิกษุณีควรมีวัดเป็นของตนเองจะได้ไม่ถูกอำนาจจากฝ่ายสงฆ์เข้าแทรกแซง (อันนี้ผู้เขียนเติมเอง) แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยก็คือให้การศึกษาแก่ชาวพุทธเรื่องการบวชภิกษุณีกันเป็นขนานใหญ่ เพราะชาวพุทธส่วนมากเมื่อเห็นผู้หญิงห่มเหลืองแล้วยังไม่เข้าใจและมักจะตั้งคำถามกันเสมอ
เมื่อการดูงานมาถึงตรงนี้เราได้นำเสนอว่าสถานการณ์การกดขี่ทางเพศในเมืองไทยเวลานี้ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ที่การกดขี่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปสู่การกดขี่เพศสภาพอื่น ๆ คือเกย์ เลสเบี้ยน กะเทย ถึงตรงนี้เพื่อนหลายคนทำหน้างงพร้อมกับตั้งคำถามว่ามันเกี่ยวกันอย่างไรเพราะตอนนี้เรากำลังพูดคุยกันถึงเรื่องการกดขี่ผู้หญิง เราจึงอธิบายเพิ่มเติมว่าอันที่จริงเพศสภาพเกย์ กะเทย ก็มาจากชาย ส่วนเลสเบี้ยนก็มาจากหญิง บุคคลเหล่านี้กำลังแสดงบทบาททางเพศที่นอกกรอบความเป็นชาย-ความเป็นหญิง แท้จริงแล้วพวกเขาก็คือผู้ชาย-ผู้หญิงที่กำลังถูกกดขี่และถูกเอาเปรียบนั่นเองไม่ว่าจะถูกห้ามบวช ห้ามออกทีวี ห้ามเป็นครู ห้ามเปิดเผยตัวเอง ถ้าเรามองให้เห็นความเป็นมนุษย์เราก็จะเห็นว่าพวกเขาก็คือมนุษย์ที่กำลังถูกเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกดขี่เอาเปรียบ มีความจำเป็นอย่างมากเมื่อเราศึกษาการเรียนรู้เรื่องการกดขี่ทางเพศเราต้องมองให้แตกว่าเวลานี้การกดขี่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพศหญิงเท่านั้น

ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
สิ่งที่ทำให้เพื่อนร่วมประชุมต้องงงเป็นรอบที่สองดูจะเป็นปัญหาใหญ่ของการประชุมระหว่างศาสนาแบบนี้ก็คือการที่แต่ละท่านมาจากต่างศาสนาและยังไม่อาจเข้าใจคำสอนสูงสุดของศาสนาอื่น ๆ ดังกรณีเพื่อนชาวพุทธของเรานำเสนอว่าในที่สุดแล้วการทำงานเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียมระหว่างเพศต้องตระหนักรู้ภายใต้เงื่อนไขว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมหรือการกดขี่ทางเพศนั้นมาจากการแบกรับเอาตัวตนชายหญิงเข้ามายึดไว้ในใจ ในที่สุดก็ยึดมั่นเอาความแตกต่างนี้มากดขี่กัน หนทางที่ต้องทำไปด้วยก็คือการตระหนักรู้ว่าเพศสภาพเป็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เราอย่าแบกไว้จริงจังนัก แต่ให้มองให้ลึกว่าเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าทำให้ฝ่ายที่ถูกกดขี่ได้รับการเอาเปรียบอยู่ร่ำไป

ชายเป็นใหญ่
เวลาที่มีการพูดถึงโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ทีไรสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งก็คือผู้ชายมักจะมีอาการซึมเศร้าและดูจะเป็นบรรยากาศ ‘มาคุ’ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เวลาที่มีการพูดถึงประเด็นหญิงชายแบบนี้แม้แต่การประชุมครั้งนี้ก็เช่นกันซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปรกติ แต่อันที่จริงก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนจะได้เปรียบจากโครงสร้างอันนี้เสมอไปไม่ใช่หรือ ยังมีผู้ชายจำนวนมากทีเดียวที่ต้องทนทุกข์ไปกับโครงสร้างกำมะลออันนี้และสถานการณ์กำลังรอให้ผู้ชายกลุ่มนี้ออกมาพูดอยู่ และเพื่อนร่วมประชุมก็ต้องงงเป็นรอบที่สามเมื่อเพื่อนชาวพุทธเรานำเสนอว่าสาเหตุของความไม่เท่าเทียมทางเพศไม่ได้มาจากโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่โดยตรง แต่มีโลภะ โทสะ โมหะชักใยให้โครงสร้างนี้ให้ดำรงอยู่

แนวคิดเรื่องอำนาจ
แนวคิดเรื่องอำนาจเป็นประเด็นที่ทำให้เพื่อนร่วมประชุมต้องงงเป็นรอบที่สี่ เมื่อเพื่อนคนไทยของเราคนหนึ่งนำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง ‘อำนาจ’ ซึ่งเนื้อหาของการเรียนรู้ได้นำไปสู่ประเด็นที่เปิดกว้างว่าภายใต้การกดขี่ระหว่างเพศนั้นมีการใช้อำนาจแฝงอยู่ อำนาจอาจไม่ใช่การกดขี่ระหว่างชายกระทำกับหญิงเท่านั้น ใครก็ตาม (ไม่ว่าเพศไหน) ถ้ามีอำนาจเหนือกว่าก็สามารถกดขี่ใครก็ได้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง และคนที่ถูกกดขี่อาจเป็นผู้ชายก็ได้… ถ้าการพูดคุยเรื่องมิติหญิงชายของเราไม่แตกแขนงไปถึงเรื่องอำนาจแล้วเราก็คงเข้าใจประเด็นเรื่องการกดขี่ได้ยากว่าการกดขี่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายกับผู้ชายก็สามารถกดขี่เอาเปรียบกันได้เหมือนกัน ความงุนงงครั้งที่สี่จึงเกิดขึ้น

อยากได้ยินในสิ่งที่อยากฟัง
โดยภาพรวมแล้วการประชุมพูดคุยกันเรื่อง ’ความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายในมิติศาสนา’ ซึ่งเป็นครั้งแรกครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องปรัชญาการเรียนรู้ร่วมกันอยู่หลายประการด้วยกัน เพราะผู้จัดรวมถึงผู้เข้าร่วมหลายท่านต่างก็มีความคาดหวังว่าจะได้รับฟังเรื่องราวการกดขี่ในรูปแบบที่ตนเองต้องการจะได้ฟัง ยกตัวอย่างมีเพื่อนคนหนึ่งนำเสนอว่าผู้หญิงในประเทศของตนได้รับการปกป้องคุ้มครองดี ใครถูกข่มเหงก็สามารถไปแจ้งความเดือดร้อนกับหน่วยงานของราชการได้นี่จึงทำให้หลาย ๆ คนตั้งคำถามถึงข่าวคราวความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ตนได้ยินได้ฟังมาจากประเทศนั้น ๆ ทำเอาบรรยากาศเหมือนจำเลยกำลังถูกไต่สวนสอบสวนอย่างเคร่งเครียด หรืออย่างกรณีว่าในศาสนาเดียวกันเมื่ออยู่ต่างถิ่นต่างประเทศกันไปความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงในศาสนานั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันก็ได้ แต่เมื่อเพื่อนร่วมประชุมได้ฟังว่ามันไม่เหมือนกันก็เลยทำให้แต่ละคนที่พกพาเอาความคาดหวังว่าต้องได้ฟังอะไรในแบบที่ตนอยากได้ยินเกิดความรู้สึกกร่อย ๆ และไม่สบอารมณ์
แม้แต่ช่วงการนำเสนอการวางแผนงานว่าใครจะทำอะไรเมื่อกลับไปประเทศของตนนั่นก็ยังรู้สึกอึดอัดเพราะผู้ดำเนินรายการรวบรัดเอาความคาดหวังของตนเป็นใหญ่แทนที่จะปล่อยให้เป็นการเรียนรู้และตัดสินใจของเพื่อนผู้เข้าร่วมเองว่าตนมีความสามารถที่จะกลับไปทำอะไรในประเทศของตนเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง เมื่อนำเสนอในที่ประชุมต่างก็ถูกตรวจสอบและตั้งคำถามเลยทำให้บรรยากาศไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร
เพื่อนคนไทยบางคนถึงกับพูดอย่างโล่งอกในวันสุดท้ายของการประชุมว่า ‘เฮ้อ..ในที่สุดก็จบเสียที’ สำหรับบางคนแล้วนี่อาจเป็นการประชุมสัมมนาที่แสนวิบากก็ได้ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อรายการสัมมนาเท่านั้น เราก็ได้แต่หวังลอย ๆ ว่าเพื่อนต่างศาสนาและต่างวัฒนธรรมที่ทั้งงุนงงและคาดหวังอะไรไว้สูงกับการประชุมครั้งนี้คงได้เรียนรู้อะไร ๆ ที่แปลกและใหม่ไปจากเดิมบ้าง หรือบางทีอาจไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยก็เป็นได้นะเออ.



© จัดโดย Asia & Pacific Alliance of YMCAs (APAY), Christian Conference of Asia (CCA), Church Development Service (EED) และ Continuation Committee for the Gender Justice Consultation สถานที่จัดประชุมคืออาศรมวงศ์สนิท

ไม่มีความคิดเห็น: