วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

ความรุนแรง ที่ละมุนละไมและแนบเนียน



ที่บอกว่าเป็นความรุนแรง ที่ละมุนละไมแนบเนียน ตามชื่อบทความ ก็เพราะว่า เมื่อใดที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนรักเพศเดียวกัน เป็นพวกโรคจิต วิปริต ผิดปรกติ กลับไม่มีใครลุกขึ้นมา ทักท้วงหรือคัดค้าน จะมีก็แต่ความเงียบ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังเสวนาว่าด้วยเรื่อง "ความรุนแรงต่อหญิงรักหญิงจะยุติลงได้อย่างไร?" จัดขึ้นที่โรงแรม เอส ดี อเวนิว ผู้เขียนได้แสดงความเห็นว่า "ความรุนแรงที่เกิดกับคนรักเพศเดียวกันนั้น ก็ไม่ต่างจาก ความรุนแรง ที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืน" ที่พูดอย่างนั้นก็เพราะเพียงคำว่า ผิดปรกติ คำเดียวแค่นี้ ก็จัดว่ารุนแรงและสาหัสแล้ว ไม่ต้องไปสรรหาคำรุนแรงอื่นๆ มานินทาให้เสียเวลา ได้ยินครั้งหนึ่งก็เท่ากับถูกข่มขืนไปคราวหนึ่ง ลองคิดดูว่าคนที่รักเพศเดียวกัน ในชีวิตของเขาจะถูก ข่มขืนด้วยคำพูดที่รุนแรงเช่นนี้ไปกี่ครั้ง ซึ่งถึงแม้เขาจะไม่ได้ถูกข่มขืนทางร่างกาย แต่สิ่งที่เขาถูกกระทำก็คือการถูกกระทำชำเราทางจิต ซึ่งตรงนี้เราสามารถ สังเกตได้ง่ายๆ ว่า คนที่ถูกข่มขืนไม่กล้าลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อสิทธิและความถูกต้องของตนฉันใด คนที่รักเพศเดียวกัน ต่างก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาเปิดเผยตัวเอง เพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิและความถูกต้องของตนฉันนั้น และที่บอกว่าเป็นความรุนแรงที่ละมุนละไมแนบเนียนตามชื่อบทความ ก็เพราะว่า เมื่อใดที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนรักเพศเดียวกันเป็นพวกโรคจิต วิปริต ผิดปรกติ กลับไม่มีใครลุกขึ้นมาทักท้วงหรือคัดค้าน จะมีก็แต่ความเงียบ ซ้ำร้ายกว่านั้น ก็คือ คนที่รักเพศเดียวกัน ก็ยิ่งวิตกกังวล ถูกกดดันและต้องปิดบังตัวเองมากยิ่งขึ้น เพราะหากเปิดเผย ตัวเองไป ก็จะยิ่งถูกมองว่าเป็นพวกวิปริต ผิดปรกติ และอาจถูกตั้งแง่รังเกียจตามมา นี่จึงเป็น "ความรุนแรงที่ละมุนละไมและแนบเนียน" ที่สังคมปล่อยให้ลอยนวลมาตลอด รายการเสวนาวันนั้นทำให้รู้ว่า ความรุนแรงไม่ได้เกิดจาก "ความเงียบ" ของสังคมที่เพิกเฉย ไม่นำพาเอาใจใส่ต่อสมาชิกร่วมสังคมกลุ่มนี้ ให้ได้รับความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโครงสร้างอื่นๆ อีกหลายด้าน เช่น อุดมการณ์เหย้าเรือน ที่พยายาม พร่ำบอกเสมอ ถึงบทบาทอันชัดเจนของสมาชิกหญิงชายที่ชัดเจนตายตัวภายในครอบครัว, ตัวบทกฎหมาย ทั้งกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายศีลธรรมที่ยังมีเนื้อหาไม่เข้ากับพฤติกรรมทางเพศที่เป็นจริงของคนในสังคม, ละครจากสื่อที่มุ่งเสนอทัศนคติต่อบทบาทชายหญิงที่ติดกรอบ, ท่านผู้รู้ที่มีดีกรีทางแพทย์และจิตศาสตร์ แต่ยังมีความ รู้เรื่องพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของบุคคลอย่างไม่รอบด้าน จึงยังคงออกมาให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง, หรือแม้แต่รายการเสวนา ที่มักจะตั้งชื่อหัวข้อที่เรียกร้องความสนใจว่า "เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นเกย์" แค่ได้ยินชื่อก็อาจทำให้คนที่เป็นเกย์ได้ผมร่วงไปหลายสิบเส้นเสียแล้ว ดูเหมือนว่า ความรุนแรงที่มีต่อคนรักเพศเดียวกัน จะตลบอบอวลไปในอากาศทุกอณู นี่ยังไม่นับรวมถ้อยคำ ที่ใช้เรียกขานคนกลุ่มนี้ว่า พวกรักร่วมเพศ พวกเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นศัพท์วิชาการ แต่ก็อดรู้สึกและ เข้าใจไปไม่ได้ว่า ยังเป็นศัพท์วิชาการที่มีความรุนแรงเจือปนอยู่ ระหว่างการเสวนา ผู้เขียนมีโอกาสเสนอหลักธรรมที่อาจช่วยยุติความรุนแรงแก่คนรักเพศเดียวกัน นั่นก็คือเรื่อง พรหมวิหาร 4 ซึ่งประกอบไปด้วย เมตตา คือ การภาวนาขอให้คนอื่นมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นอะไร มีอัตลักษณ์หรือตัวตน แบบไหนก็ขอให้มองเขาด้วยเมตตา ปรารถนาอยากให้เขามีความสุขอย่างที่เขาเป็นเวลาที่เรามองคนอื่นด้วยความเมตตา ก็จะทำให้จิตของผู้ภาวนานั้น เย็นและมีความสุขไปด้วย และยังทำให้บรรยากาศรอบๆ เต็มไปด้วยความอบอุ่น กรุณา คือ การภาวนาขอให้คนอื่นพ้นทุกข์ ในที่นี้ คือ การภาวนาขอให้คนที่รักเพศเดียวกันพ้นจากการเข้าใจผิด พ้นจากการถูกรังเกียจ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ให้เขาพ้นจากความเป็น หญิงรักหญิง - ชายรักชาย เพราะความเป็นทั้งสองไม่ใช่ความทุกข์ แต่คนที่เป็นทุกข์และควรจะพ้นทุกข์มากกว่า คือคนที่เป็น Homophobia (คนที่รังเกียจบุคคลที่รักเพศเดียวกัน) เราควรภาวนาขอให้เขาพ้นจากความรู้สึกรังเกียจเช่นนั้น เพราะการรังเกียจ นั่นเอง ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่ความรุนแรงอื่นๆ ตามมา มุทิตา คือ การร่วมยินดีแก่บุคคลที่รักเพศเดียวกันเพราะเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเคารพและจริงใจกับตัวเอง ในขณะที่คนอื่นๆ อาจทำไม่ได้อย่างเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรยินดีกับเขามากๆ หากเขาสามารถเปิดเผยตัวเองได้ เพราะเขากำลังทำสัจธรรมให้ปรากฏ นั่นคือการพูดความจริง อุเบกขา คือ การรู้จักปล่อยวาง หากเราไม่เห็นด้วยที่เขาเป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย ทอม เกย์ ดี้ หรือรักสองเพศ แต่สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างด้วยความสงบ และปล่อยวาง หากการกระทำของเขานั้น ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้ใคร พึงจำไว้ว่า การเป็นคนรักเพศเดียวกันของบุคคล ยังไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร ตราบเท่าที่บุคคลยังไม่ได้ไป ละเมิดคู่รักของคนอื่น ซึ่งมาตรฐานตรงนี้ ก็ไม่น่าหลุดไปจากกรอบศีลธรรมที่คู่รักต่างเพศนิยม ยึดถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว ตรงนี้เห็นกันอย่างไรคงต้องฝากไว้พิจารณากันดู นั่นคือใจความของหลักธรรมเรื่องพรหมวิหาร ถึงแม้หลักธรรม ที่ผู้เขียนได้เสนอไปนั้น อาจจะไม่ใช่ข้อเสนอแนะที่ดีที่สุด แต่เราควรตระหนักรู้ว่าการอยู่ร่วมกันกับ บุคคลอื่นที่แตกต่างไปจากเรา (ซึ่งความแตกต่างนั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน) ด้วยสันตินั้น จำเป็นต้อง เรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก และจัดว่าเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสูงทีเดียว.

พระชาย วรธัมโม
สะพาน

ไม่มีความคิดเห็น: