วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

Sex phone : จินตนาการผ่านสายโทรศัพท์


เรื่องราวของผู้หญิงจำนวนหนึ่งหันมาให้บริการ ‘เซ็กส์โฟน’ กลายมาเป็นประเด็นร้อนทางหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางฉบับ (คมชัดลึก ๒๓ มี.ค. ๒๕๔๗) เมื่อหญิงสาวใช้วิธีโพสข้อความเสนอขายบริการพูดคุยทางโทรศัพท์ผ่านเว็บไซต์ ๆ หนึ่งด้วยข้อความ ‘สำหรับชายขี้เหงาและอยากเสียว’ โดยทิ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ให้ติดต่อกลับ เมื่อลูกค้า(ผู้ใช้บริการ)โทรหาฝ่ายหญิง ๆ จะให้ลูกค้า(ผู้ใช้บริการ) โอนเงินจำนวนหนึ่งเข้าบัญชีของตนเพื่อเป็นค่าบริการจ่ายล่วงหน้า เมื่อมีการโอนเงินเสร็จเรียบร้อยการให้บริการปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศผ่านการคุยทางโทรศัพท์ก็เริ่มต้นขึ้น โดยที่กลวิธีการให้บริการเซ็กส์โฟนของหญิงแต่ละคนก็มีวิธีการคล้าย ๆ กันในลักษณะนี้

ปรากฏการณ์เซ็กส์โฟนในลักษณะดังกล่าวทำเอาผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงวัฒนธรรมรวมทั้งตำรวจออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าเซ็กส์โฟนเป็นสิ่งที่ขัดกับวัฒนธรรมไทยและอาจก่อให้เกิดความรุนแรงทางเพศตามมา ในขณะที่หมอพันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าหากมองในแง่ดี เซ็กส์โฟนเป็นทางออกในการเพิ่มรายได้ให้กับหญิงสาวโดยไม่ต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัว อีกทั้งยังช่วยให้ชายหนุ่มที่มีปัญหาได้มีทางออกในการพูดคุยเรื่องเซ็กส์กับผู้หญิงที่เต็มใจ

อันที่จริงหากมองในแง่ดีอย่างที่หมอพันธ์ศักดิ์พูดก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเซ็กส์โฟนเป็นแค่เซ็กส์ที่อาศัยจินตนาการผ่านเสียงพูดทางโทรศัพท์และเป็นบริการทางเพศที่น่าจะปลอดภัยที่สุดในเวลานี้ เพราะไม่ได้เกิดการร่วมเพศกันจริงแต่อาศัยจินตนาการพาไปให้ถึงดวงดาว ดังนั้นจึงไม่น่ากังวลว่าจะเกิดการตั้งท้องและไม่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการแพร่กระจายของโรคเอดส์อย่างที่สังคมกำลังหวาดกลัวกันอยู่ในเวลานี้ อีกทั้งเซ็กส์โฟนยังช่วยให้ผู้คนจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสปลดปล่อยจินตนาการทางเพศของตนได้โดยอิสระ เพราะคนจำนวนหนึ่งที่ว่านี้ไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำรวมทั้งไม่มีโอกาสทำในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับอันประกอบไปด้วยเซ็กส์ที่นอกกรอบหลากหลายรูปแบบที่สังคมไม่ได้มีพื้นที่ไว้ให้แม้แต่จะได้ยินหรือรับฟัง (แม้แต่ ‘เซ็กโฟน’ โดยตัวมันเองก็เป็นรูปแบบของเซ็กส์ที่สังคมไม่ได้ให้การยอมรับอยู่แล้ว) เซ็กส์โฟนจึงเป็นวิธีการปลดปล่อยจินตนาการทางเพศที่มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยจากการถูกตรวจตราจากสังคมเป็นอย่างดี

ทำไมจึงบอกว่าการได้ปลดปล่อยจินตนาการทางเพศเป็นเรื่องดี ? ก่อนอื่นผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้หลุดออกมาจากกรอบความคิดเรื่อง ‘กามสุขัลลิกานุโยค’ (การประกอบตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุข) เสียก่อน หาไม่แล้วอาจจะไม่เข้าใจว่าข้อเขียนชิ้นนี้กำลังสื่อสารอะไรกับคนอ่าน

มนุษย์นั้นมีจินตนาการอยู่หลายเรื่องด้วยกัน จินตนาการช่วยให้มนุษย์มีความสุขหากจินตนาการนั้นได้รับการยอมรับและแสดงออกโดยไม่ถูกตัดสินจินตนาการนั้นจะมีส่วนช่วยให้มนุษย์มีกำลังใจในการดำรงชีวิตรวมทั้งมีพลังสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ แต่จะมีจินตนาการอยู่ประเภทหนึ่งที่มักจะไม่ได้รับการยอมรับนั่นก็คือจินตนาการที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เราจะเห็นได้ว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือโป๊ นิยายอิโรติค ภาพเปลือยเปล่าของคนทั้งผู้ผลิตและผู้ที่ครอบครองมักจะถูกปฏิเสธและมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นต้นเหตุของความเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี ซึ่งมันอาจจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้ .. (เขียนอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนสนับสนุนให้มีภาพโป๊ในที่สาธารณะซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน)

สิ่งที่เราพอจะทราบกันดีอยู่ก็คือมนุษย์เมื่อเจริญเติบโตมาถึงช่วงวัยหนึ่งของชีวิตก็ต้องมีการเจริญเติบโตทั้งทางเพศ ทางสรีระ อารมณ์ ความรู้สึก มีจินตนาการต้องการการแสดงออกทางเพศ ช่วงชีวิตที่ว่าก็คือช่วงวัยรุ่นเป็นต้นมาจนกระทั่งวัยชราที่ความเจริญทางเพศในบางคนก็ไม่ได้ร่วงโรยไปตามวัย

เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะพบว่ามนุษย์เรียนรู้ที่จะสอดแทรกจินตนาการเรื่องเพศของตนลงไปในศิลปะแขนงต่าง ๆ มนุษย์หลายยุคหลายสมัยหลายสีผิวต่างก็มีจินตนาการในเรื่องเพศที่แตกต่างพิสดาร จินตนาการดังกล่าวได้แทรกซึมอยู่ในศิลปะหลายแขนงของพวกเขาทั้งที่แอบแฝงและแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง ศิวลึงค์และโยนีเป็นตัวอย่างที่ดีของจินตนาการเรื่องเพศที่ปรากฎผ่านออกมาบนพื้นที่ศาสนา

จินตนาการเรื่องเพศในสังคมไทยก็เช่นเดียวกัน เพลงพื้นบ้านของไทยในหลาย ๆ ภาคมีบทเกี้ยวพาราสีระหว่าง
หญิงกับชายที่ออกจะโจ่งแจ้งและบางครั้งก็ออกสองแง่สองง่ามสับประดี้สัปดน ลิเก ลำตัด หมอรำ ตลก จำอวด ฯลฯ ผู้แสดงมักนำเอาเรื่องใต้สะดือมาโต้ตอบกันอย่างสนุกสนานและไม่ได้สนุกสนานเฉพาะคนแสดงเท่านั้นคนดูก็พลอยครื้นเครงตามไปด้วย

งานวัดแถบต่างจังหวัด (โดยเฉพาะภาคอีสาน) ลองไปดูเถิดดึก ๆ หน่อยจะมีรายการเต้นจ้ำบ๊ะแสดงออกด้วยลีลาท่าทางประกอบกิจทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง (แต่ไม่เปลือย-ขอบอก) ลูกเล็กเด็กแดงถ้าไม่หลับหน้าเวทีไปเสียก่อนคงต้องได้เห็นการแสดง ‘อย่างว่า’ หน้าเวที

ศิลปะพื้นบ้านที่มีเรื่องใต้สะดือหรือจินตนาการเรื่องเพศแทรกซึมอยู่เช่นนี้จะให้เข้าใจว่าอย่างไร พอเราเข้าไปในวัดเราพบจิตกรรมฝาผนังโบสถ์ที่มักจะมีภาพเชิงสังวาสปรากฏให้เห็นบ่อย ๆ อีกทั้งเพลงร่วมสมัยของสุนทราภรณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงสากลอมตะนิรันดร์กาลมาตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่ายังวัยรุ่น ก็ยังได้พบกับเนื้อหาของเพลงที่พูดถึงบทอัฒจรรย์อย่างตรงไปตรงมา (เนื้อหาเพลงบางท่อนที่พอจะจำได้ก็คือ ‘เสียแรงรักใคร่ เสียแรงสมสู่…’ อะไรประมาณนี้) ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าสังคมไทยเองก็มีจินตนาการในเรื่องเพศแทรกซึมอยู่ในศิลปะแขนงต่าง ๆ มานานแล้วอย่างไร

ผู้เขียนเชื่อว่าสังคมไทยกับเรื่องเพศไม่ได้แยกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิงเหมือนอย่างที่หลาย ๆ คนกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันในเวลานี้ว่าเพศเป็นเรื่องที่ขัดกับวัฒนธรรมไทย แต่สังคมไทยกับเรื่องเพศเป็นอะไรที่แทรกซึมและควบคู่กันมาตลอดเพียงแต่เราจะตั้งใจมองให้เห็นหรือไม่เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามเพศก็เป็นสิ่งที่คอยกดดันมนุษย์ให้มนุษย์มีความต้องการในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่มนุษย์ก็มีอคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ แล้วนำเอาอคติเหล่านั้นมาใช้กดขี่มนุษย์ด้วยกันไม่ให้แสดงออก (โดยคิดว่าเป็นความหวังดี) เพศที่เราคิดว่าเรามีความเข้าใจดีแต่เอาเข้าจริง ๆ เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเพศเอาเสียเลย จินตนาการที่มนุษย์มีต่อเรื่องเพศได้ถูกริดรอนราวกับว่าเรากำลังกลับไปสู่ยุคเผด็จการณ์ที่มองอะไรได้เพียงด้านเดียว คนเห็นต่างเป็นคนผิดที่ควรถูกลงโทษ การที่จินตนาการของคนถูกควบคุมอย่างน้อยก็ทำให้คนต้องรู้สึกกดดันที่จินตนาการบางเรื่องราวของเขาไม่ได้รับการยอมรับ

ประเด็นที่พูดว่าเซ็กส์โฟนจะทำให้เกิดความรุนแรงทางเพศนั้น อาชญากรที่ก่อคดีข่มขืนไม่เคยออกมาสารภาพเลยว่าเป็นเพราะตนเองมีเจตนาข่มขืน เป็นเพราะตนเองสะใจที่ได้เห็นคนอื่นต้องเจ็บปวดจากการกระทำของตน แต่อาชญากรมักจะโทษสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเพราะหนังสือโป๊เป็นเพราะ VDO เปลือย คนเรามีแนวโน้มว่าจะโทษสิ่งแวดล้อมกันอยู่แล้วเพราะการโทษสิ่งแวดล้อมทำให้ตัวเราดูดีและปลอดภัย แต่มนุษย์ก็มีทางเลือกเหตุใดอาชญากรทั้งหลายจึงไม่เลือกที่จะสำเร็จความใคร่ตนเองแต่กลับเลือกที่จะใช้พละกำลังทำการข่มขืนเหยื่อ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องหันมาจับประเด็นกันใหม่

เซ็กส์โฟนจึงอาจไม่ได้เป็นเรื่องเสื่อมเสียศีลธรรมอย่างที่เราเข้าใจกันแค่ด้านเดียวก็ได้ แต่เป็นทางออกของจินตนาการทางเพศของผู้คนจำนวนหนึ่งในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยให้จินตนาการทางเพศของคนมิดชิดและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และคงไม่ได้แตกต่างไปจากการละเล่นศิลปะเพลงพื้นบ้านของเราเองที่มีเรื่องราวทำนองนี้ปะปนอยู่ แต่ยังช่วยให้ผู้คนได้ปล่อยอารมณ์ไปกับมันอย่างครื้นเครงอย่างที่เคยเป็นมา…



ธาราธรรม

ไม่มีความคิดเห็น: