วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

ภูเขาหิมาลัยของนักบวชหญิง


(กรุงเทพธุรกิจ 24 ก.ย.45)
พระชาย วรธมฺโม

จะป่วยกล่าวไปไยถึงผลลัพธ์แห่งการเรียกร้อง ที่นักบวชชายย่อมมีโอกาสเป็นต่อ ในขณะที่นักบวชหญิง เรียกร้องอะไรก็ไม่ได้รับการตอบสนอง แม้แต่ไปบวชเป็นสามเณรีมาจากต่างประเทศ ก็ยังถูกผลักไสให้ไปอยู่นิกายอื่น โชคยังดีที่ไม่ถึงกับ ถูกบังคับจับสึกเหมือนเมื่อ 70 ปีที่แล้ว
ในที่สุดการชุมนุมเรียกร้องให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ ที่หน้ารัฐสภา ก็ยุติลงด้วยความเรียบร้อยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ประชุมวุฒิสภาตอบกลับมาว่า จะให้มี สำนักพระพุทธศาสนา แทนข้อเสนอให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนา ทำให้คณะสงฆ์ไม่ต้องสวดมาติกาบังสุกุลให้นักการเมืองชาวพุทธที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์กรพระพุทธศาสนาตามที่ได้ตั้งเงื่อนไขไว้
ที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คณะสงฆ์รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวต่อประเด็นทางสังคม เพราะก่อนหน้านี้พระสงฆ์ก็เคยมีการรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวอยู่แล้วดังเช่นกรณี พระพิมลธรรม หรือที่เก่าไปกว่านั้นก็เรื่องของ ครูบาศรีวิชัย เพียงแต่การออกมาเคลื่อนไหวของพระสงฆ์นั้น ไม่ได้มีการออกมาเคลื่อนไหวบ่อย การออกมาแบบนานๆ ครั้ง จึงเป็นที่สนอกสนใจ และเป็นที่จับตามองของสังคมอยู่ไม่น้อย แต่อะไรก็ไม่น่าแปลกใจเท่าคณะสงฆ์ แกนนำที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นพระสงฆ์ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่ใครๆ ก็ไม่คาดคิดว่าท่านจะออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างเป็นจริงเป็นจังจนคาดไม่ถึง ด้วยเรามีภาพว่า พระผู้ใหญ่ระดับสูงถึงอย่างไรท่านก็คงไม่มีวันออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวท่านเองเป็นแน่ หากเรื่องนั้นไม่ร้ายแรงหรือมีผลกระทบอะไรจริงจัง การเป็นพระผู้มีตำแหน่งเมื่อออกมาเคลื่อนไหวจึงมีผลต่อการเรียกร้องไม่น้อย
ในขณะเดียวกันช่วงปีที่ผ่านมา เราคงจำกันได้ว่ามีกลุ่มผู้หญิงลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อรื้อฟื้นการบวช ภิกษุณี แน่นอนว่าเสียงเรียกร้องนี้ได้สร้างความท้าทายแก่พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยไม่น้อย มีการตั้งคำถามออกมามากมายว่าจะเคลื่อนไหวให้เกิดความไม่สงบไปทำไม บวชเป็นแม่ชีก็ดีอยู่แล้ว ถึงไม่ได้บวชเป็นภิกษุณีก็บรรลุธรรมได้ ฯลฯ ซึ่งคำถามและข้อกังขาเหล่านี้ไม่ได้มาจากนักบวชชายเท่านั้น การไม่เห็นด้วยกับการบวชภิกษุณีก็ยังมีอยู่ในหมู่ฆราวาสหญิงด้วย แม้การออกมาเรียกร้องกระทรวงพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์เอง ก็ยังถูกตั้งคำถามที่ท้าทายในแบบเดียวกัน
หากมองปรากฏการณ์การเรียกร้องการบวชภิกษุณีสงฆ์ว่าเป็นเสียงเรียกร้องจากนักบวชหญิงแล้ว การเรียกร้องกระทรวงพระพุทธศาสนา ก็น่าจะมองได้ว่าเป็นเสียงเรียกร้องจากนักบวชชาย ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้กำลังบ่งบอกว่าถึงที่สุดแล้วเรื่องใดๆ ก็ตามหากไม่กระทบถึงวิถีชีวิต วิธีคิดหรืออุดมการณ์ที่มีอยู่ภายในใจของใคร เป็นใครก็คงไม่ออกมารวมตัวเคลื่อนไหวให้เสียเวลา แม้แต่การออกมาเรียกร้องของนักบวชที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตัดกิเลส รักสงบไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลกย์ เอาเข้าจริง ๆ โลกย์กับธรรมก็เป็นสิ่งที่หนีกันไปไหนไม่พ้น
กรณีที่ผู้หญิงหลายคนๆ ไม่เห็นด้วยกับการบวชภิกษุณี ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสของผู้หญิงเอง แม้แต่นักการเมืองหญิงก็ไม่เห็นว่าจะมีใครลุกขึ้นมาพูดอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้งๆ ที่นักการเมืองหญิงนั่นเองควรจะเป็นผู้ที่มีบทบาทไม่น้อยในการเคลื่อนไหวทางกฎหมายเพื่อโอกาสของผู้หญิง เพราะนักการเมืองหญิงเป็นผู้หญิง ! แต่เพราะเรื่องภิกษุณีไม่อาจเข้าไปกระทบถึงตัวตนของนักการเมืองหญิงท่านใดได้ (แม้แต่จะคิดว่านักการเมืองชายจะเห็นด้วยก็อย่าหวัง) การเรียกร้องให้เกิดภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทย จึงไม่มีกำลังแรงพอและไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ
สิ่งที่น่าสังเกตบางประการจากปรากฏการณ์ทั้งสอง ก็คือ เป็นเสียงเรียกร้องจากนักบวชเหมือนกัน แต่อำนาจในการต่อรองกลับมีไม่เท่ากัน การเรียกร้องของนักบวชชายนั้นเป็นการต่อรองกับภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว หรือถ้าจะมีก็คือการต้องต่อสู้กับคำถามของสื่อที่จะคอยคุ้ยแคะเรื่องความเหมาะสมของสมณสารูป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องอ่อนไหวมากนัก เพราะพระสงฆ์มีอุบาสกอุบาสิกาและแม่ชีมากมายมาเป็นแนวร่วมในการชุมนุม
ในขณะที่การเรียกร้องของนักบวชหญิงนั้น ไม่ว่าจะเรียกร้องพ.ร.บ.แม่ชีหรือเรียกร้องภิกษุณีสงฆ์ก็ตาม ต้องเรียกร้องจากนักบวชชาย (พระสงฆ์) แล้วยังต้องเรียกร้องจากภาครัฐ (กระทรวงศึกษาธิการ) แล้วยังต้องเรียกร้องต่อพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะผู้หญิงชาวพุทธด้วยกัน ให้เกิดความเข้าใจต่อประเด็นที่เรียกร้องอีก ยังไม่รวมการต่อสู้กับสื่อที่คอยเสนอข่าวที่บิดเบือนความจริง ดูเหมือนว่าการเรียกร้องของนักบวชหญิงช่างมีอุปสรรคมากมายหลายเท่าตัว ยังไม่รวมว่านักบวชหญิงต้องประสบกับปัญหาเรื่องแนวร่วมที่หาได้ยากอีกหนึ่งอุปสรรค และการเป็นนักบวชหญิงก็ยังไม่สามารถกดดันฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีอยู่ถึง 3-4 ฝ่ายให้จำนนต่อข้อเรียกร้องได้ ผิดกับนักบวชชายที่มีมรรควิธีในการกดดันฝ่ายตรงข้ามหลายวิธีอย่างน่าติดตาม จะป่วยกล่าวไปไยถึงผลลัพธ์แห่งการเรียกร้องที่นักบวชชายย่อมมีโอกาสเป็นต่อ ในขณะที่นักบวชหญิงเรียกร้องอะไรก็ไม่ได้รับการตอบสนอง แม้แต่ไปบวชเป็นสามเณรีมาจากต่างประเทศ ก็ยังถูกผลักไสให้ไปอยู่นิกายอื่น โชคยังดีที่ไม่ถึงกับถูกบังคับจับสึกเหมือนเมื่อ 70 ปีที่แล้ว
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะการมีเพศสภาพเป็นหญิง คือปัจจัยหนึ่งที่เหมาะกับโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้การต่อรองของผู้หญิงดูมีอำนาจน้อยลง ถึงแม้อำนาจในการกดดันฝ่ายตรงข้ามจะมีอยู่แต่ก็ไม่สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยได้ เพราะอะไรก็น่าจะรู้กันดี การมี สำนักพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่น่าโมทนาแต่ก็ยังไม่รู้ว่ามีแล้วจะช่วยให้นักบวชหญิงได้มีที่เหยียบที่ยืนได้มากน้อยเพียงใด หากมีองค์กรพุทธเกิดขึ้นจริงแต่ไม่สามารถเผื่อแผ่โอกาสไปยังนักบวชอีกเพศหนึ่งบ้างแล้ว องค์กรพุทธดังกล่าว ก็คงมีความลำเอียงทางเพศเหมือนเดิม ถึงแม้การไปร่วมชุมนุมเรียกร้องที่ผ่านมาจะปรากฏว่ามี แม่ชี ไปร่วมแสดงพลังจำนวนไม่น้อยก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิทธิและโอกาสที่ได้มาจะแผ่ไปถึงแม่ชีด้วย และยังไม่อาจทราบได้ว่าแม่ชีเองจะรู้สึกต่อเรื่องนี้อย่างไร การเอาเปรียบผู้หญิงนอกจากจะมีอยู่ในโลกฆราวาสแล้ว แม้ในโลกศาสนาเอง การเอาเปรียบผู้หญิงก็ยังตามรังควานไปถึง ดูเหมือนว่าภูเขาหิมาลัยที่ขวางกั้นนักบวชหญิงอยู่เบื้องหน้า ช่างสูงชันเกินกว่าพวกเธอจะปีนป่ายข้ามไปจริงๆ+พระชาย วรธมฺโม คณะกรรมการกลุ่มเสขิยธรรม


กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: