วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

จาก 'ภิกษุณี' ถึง 'องคุลิมาล' เถรวาทห้ามแตะ

อนุรักษ์ ภาคภูมิ
สนามวิจารณ์ จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

ในที่สุดหนัง องคุลิมาล ก็ได้ลงโรงฉายเสียทีหลังจากที่ถูกองค์กรพุทธ ๒๐ กว่าองค์กรพากันพยายามแตะเบรกระงับการฉาย ด้วยการอ้างว่าเนื้อหาของหนังบิดพลิ้วไม่ตรงกับเรื่องราวในพระไตรปิฎก จะว่าไปกรณีแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเก่าซ้ำๆ ซากๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคม พุทธเถรวาทแบบไทยๆ หากใครจะออกมาทำอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับประเด็นทางพุทธศาสนาก็อย่าแปลกใจนัก หากจะเจอะเจอกับเหตุการณ์ทำนองนี้
ตัวอย่าง ๒-๓ ปีที่แล้วหลังจาก อ.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ตัดสินใจออกบวชเป็นสามเณรี ท่านก็พยายามปลุกสังคมให้ตื่นตัวและเปิดประเด็นให้สังคมได้เรียนรู้เกี่ยวกับนักบวชหญิงที่เรียกว่า ภิกษุณี แต่ในที่สุดท่านก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จผลเป็นที่น่าพอใจนัก เพราะคณะสงฆ์ที่มีอำนาจเหนือกว่ามองไม่เห็นว่าสังคมไทยควรมีภิกษุณี อีกทั้งการออกมาเคลื่อนไหวก็ทำให้เนื้อตัวท่านต้องถลอกปอกเปิกไม่น้อย เพราะแรงปะทะไม่ได้มีมาจากคณะสงฆ์เท่านั้น ยังมีมาจากกระแสของพุทธบริษัทบางกลุ่ม มาจากองค์กรพุทธบางองค์กร รวมทั้งมาจากผู้หญิงด้วยกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักหากใครจะลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ ในสังคมไทย
แม้แต่พระสงฆ์ที่เห็นด้วยอย่างท่าน พระศรีปริยัติโมลี เมื่อท่านออกมาพูดสนับสนุนภิกษุณีบ่อยครั้งเข้า (ทราบจากวงในว่า) ในที่สุดท่านก็ได้รับคำเตือนจากคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ว่า หากออกมาพูดอีกจะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง เราจึงไม่เห็นท่านออกมาพูดสนับสนุนภิกษุณีในที่สาธารณะอีกเลย
แท้จริงแล้วพระสงฆ์หลายรูปก็ไม่ได้คิดเหมือนกับที่คณะสงฆ์ในมหาเถรสมาคมคิด หลายท่านอยากให้มีภิกษุณีแต่ไม่สามารถออกมาแสดงความเห็นในที่สาธารณะได้ ซึ่งการที่ท่านไม่สามารถออกมาพูดได้นั้นคงเดาได้ไม่ยากว่ามีเงื่อนไขเรื่องอำนาจสงฆ์เป็นอุปสรรคอยู่
แม้กรณี พระเมตตานันโท ที่ท่านเขียนหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ.๑ ออกมาถึงสองเล่ม อันเป็นหนังสือที่วิเคราะห์เหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพานไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเล่ม ๒ มีเนื้อหาที่กล่าวพาดพิงถึงการกำเนิดและความเป็นไปของภิกษุณีสงฆ์ ภายหลังพุทธปรินิพพานไว้อย่างละเอียดพิสดารและท้าทายยิ่งนัก ด้วยวิธีคิดที่แตกต่างของท่านเมตตานันโนนั่นเอง (ทราบมาอีกว่า) เกือบทำให้ท่านหาวัดอยู่ไม่ได้เหมือนกัน
การออกมาแสดงจุดยืนของนักบวช ๓ ท่านดังกล่าว ที่พยายามแตะต้องประเด็นภิกษุณีอันเป็นการแสดงออกถึงทัศนคติที่แตกต่างจากสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ท่านทั้งสามได้ถูกจัดการและควบคุมจากฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าและไม่เห็นด้วยอย่างไร
ย้อนกลับมาที่หนังเรื่อง องคุลิมาล ซึ่งออกจะเป็นประเด็นที่คล้ายๆ กันอยู่ และก็เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยากว่าเหตุใดจึงมีการเรียกร้องให้มีการระงับการฉาย หรือตัดต่อภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเสียใหม่ เพียงเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้มีการดัดแปลงต่อเติ่มเรื่องราวเข้าไปให้พิสดาร ทั้งๆ ที่เป็นเพียงภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง โดยส่วนที่ต่อเติมดัดแปลงก็ไม่ได้ทำให้ส่วนที่เป็นเนื้อหาหลักผิดเพี้ยนไป และกลับพบว่าเป็นหนังที่มีคติสอนใจผู้ชมไม่น้อย
ประเด็นนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะเราสมาทานเป็น เถรวาท เราจึงไม่ยอมแม้แต่จะแตะต้อง หรือแม้แต่จะกล้าตีความพระธรรมวินัยใหม่ๆ ไม่ว่าพระธรรมวินัยข้อนั้นจะเอื้อประโยชน์ต่อมหาชนอย่างมหาศาลเพียงไรก็ตาม แม้เราจะมีหลัก กาลามสูตร ที่สอนให้พิจารณาก่อนเชื่อถือเรื่องราวใดๆ เป็นหลักประกันภายในอยู่แล้วเช่นกัน หรือแม้เราจะมีพุทธพจน์ (ที่กล่าวกับพระอานนท์) ว่า สิกขาบทเล็กน้อย สงฆ์จะพิจารณาเพิกถอนก็สามารถทำได้ ก็ดูจะเป็นประเด็นที่ยังไม่มีใครเคยหยิบยกมาใช้ในยามคับขันเสียที
ในที่สุด องคุลิมาล จึงเป็นเรื่องของ องคุลิมาล ที่ต้องถูกตัดต่อถ่ายทำให้ถูกต้องตามเนื้อหาในพระไตรปิฎกทุกกระเบียดนิ้ว เช่นเดียวกับเรื่องของภิกษุณี ที่ต้องมีการอุปสมบทอันมีที่มาที่ไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามแบบอย่างเถรวาท ห้ามบูดเบี้ยวเฉไฉแม้แต่น้อยนิด ในบรรยากาศเช่นนี้ ทำให้เราได้เห็นพุทธศาสนา ๒ ขั้วที่กำลังหันหน้าเข้าปะทะกันในสถานการณ์ต่างๆ หลายครั้งเป็นต้นมา ขั้วหนึ่งพยายามประยุกต์ศาสนธรรมให้เข้ากับยุคสมัยของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งพยายามดำรงรักษาไว้ซึ่งเนื้อหาและรูปแบบอย่างตรงตัวอักษร
ดูเหมือนพุทธศาสนาในยุคกึ่งพุทธกาลนี้กำลังก้าวไปพร้อมๆ กันระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับประยุกต์นิยมและก็ดูจะก้าวไปด้วยกันแบบเส้นขนานที่ค่อยๆ แยกห่างกันออกไปคนละเส้นทางหาไม่แล้วหนังองคุลิมาลก็คงไม่ต้องแปะฉลากก่อนชมว่า หนังเรื่องนี้เป็นจินตนาการของผู้สร้าง ซึ่งคนดูก็คงมีวิจารณญาณแยกแยะได้ออกอยู่แล้วถึงจะไม่ต้องแปะฉลากก่อนชมก็ตาม
อุทาหรณ์จากหนังเรื่ององคุลิมาลอาจทำให้นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่ต้องการนำเสนออะไรใหม่ๆ ในสังคมไทยต้องทำการบ้านหนักขึ้นกว่าเก่าหากจะต้องไปแตะประเด็นศาสนาเข้า เพราะสังคมไทยยังไม่พร้อมให้ใครเข้าไปทำอะไรกับศาสนา ถ้าไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัวกลับมาเหมือนกรณีสามเณรีธัมมนันทา ก็อาจจะต้องเสี่ยงกับการขาดทุนเป็นเงินเป็นทองแบบองคุลิมาลหากหนังเรื่องนี้ถูกแบนขึ้นมาจริงๆ
เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่ต้องเสี่ยงกับการม้วนเสื่อกลับบ้านไปใช้หนี้หัวโตทีเดียว ..



อนุรักษ์ ภาคภูมิ มีข้อเขียนแสดงทัศนะบนหน้าหนังสือพิมพ์สม่ำเสมอ นอกจากผลงานที่มีหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องบุคคลรักร่วมเพศ ในมิติต่างๆ ทางสังคมแล้ว เขายังให้ความสนใจแก่ประเด็นทางศาสนาอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: