วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

เกย์ – เลสเบี้ยน วิบากกรรมของใคร



เรื่องของคนรักเพศเดียวกันหรือที่เรียกกันว่า โฮโมเซ็กช่วล (ขออภัยที่ใช้คำฝรั่ง) มักมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์โบราณทางศาสนาทุกศาสนา แม้ในพุทธศาสนาของเราเองก็ยังมีปรากฏให้เห็น นั่นเป็นที่แน่ใจได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า พฤติกรรมรักเพศเดียวกันของมนุษย์ มีมาช้านานนับเป็นพัน ๆ ปีแล้ว หรือไม่ก็ยาวนานพอ ๆ กับที่เริ่มมีมนุษย์ผู้ชาย–ผู้หญิงคู่แรกเกิดขึ้นมาบนโลกนี้

ในเมื่อปรากฏตามหลักฐานแล้วว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของมนุษย์ มีมาช้านานนับเป็นพันปีเช่นนี้ ก็น่าที่จะเข้าใจได้ระดับหนึ่งว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่บรรยากาศของสังคมเท่าที่เป็นไปก็ไม่ได้มองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างที่เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าค้นคว้าหาคำตอบจากพุทธศาสนาว่าพุทธศาสนามองเรื่องนี้อย่างไร ก็มักจะได้คำตอบลาง ๆ ว่าเป็น “กรรม”
ผู้เขียนเองในฐานะที่มีวิถีชีวิตอยู่ในร่มเงาของพุทธศาสนามานาน ต้องขอบอกตามตรงว่าจริง ๆ แล้วตนเองก็ยังไม่เคยพบสักทีว่าตรงไหนแน่ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เกิดมาเป็นคนรักเพศเดียวกันแล้วเป็นกรรม ตรงนี้เข้าใจว่าคงเป็นอรรถกถา (เนื้อความขยายความหมาย) ซึ่งเขียนโดยอรรถกถาจารย์รุ่นต่อ ๆ มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการตีความกันเอาเองของนักบวชรุ่นหลัง ๆ ซึ่งอาศัยหลักธรรมเรื่อง “กรรม ๑๒” มาเป็นมาตราวัดว่าใครเกิดมาเป็นอะไรแล้วเป็นกรรม ซึ่งตรงนี้นอกจากคนที่เป็นเกย์ (ชายรักชาย) เลสเบี้ยน (หญิงรักหญิง) จะรับไปเต็ม ๆ แล้ว พวกบัณเฑาะก์และกะเทยดูจะรับไปมากที่สุด อันนี้ยังไม่นับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างอื่น ๆ อีกมากแบบซึ่งไม่พ้นที่จะต้องถูกเหมารวมว่าเป็นกรรมไปด้วย
การที่มีการวิเคราะห์ว่าเกิดมาเป็นคนรักเพศเดียวกันแล้วเป็นกรรมนั้น เข้าใจว่าคงเนื่องมาจากมีการตั้งข้อสังเกตหลายประการว่า เป็นบุคคลที่ไม่เหมือนคนอื่น (เวลาที่คนเราเกิดมาไม่เหมือนคนอื่นมักถูกบอกว่าเป็นกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการก็ถูกสังคมตัดสินไปไม่น้อยเช่นกัน) เมื่อไม่เหมือนคนอื่นสังคมก็ไม่ยอมรับ เมื่อสังคมไม่ยอมรับ สังคมก็มีคำพูดส่อเสียดล้อเลียนให้ร้ายต่างๆ นานา ก่อให้เกิดความกดดันเป็นสภาวะที่เป็นทุกข์ ภายในใจต่าง ๆ นานาหลายประการ สรุปแล้วเกิดเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นกรรม โดยยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยลงลึกไปถึงตัวตนจริง ๆ ของกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันว่าพวกเขามีวิถีชีวิตอย่างไร มีความทุกข์จริงหรือไม่ ควรจะถูกจัดว่าเป็นชีวิตที่เกิดมามีกรรมอย่างที่เขาว่ากันอย่างนั้นหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันที่มีการยอมรับความแตกต่างของบุคคลกันมากขึ้น
อันที่จริงการจะวิเคราะห์ว่าใครเกิดมาเป็นอะไรแล้วเป็นกรรมหรือไม่นั้น มีหลักวิเคราะห์อยู่ว่าเจตจำนงหรือทัศนคติของบุคคลคนนั้นเป็นอย่างไร อย่างเช่นคนยากจนเราว่าเขาเป็นคนมีกรรมเพราะเกิดมายากจน ความที่เรามีทัศนคติว่าเกิดเป็นคนจนนั้นลำบากในขณะที่เกิดมาเป็นคนรวยแล้วสุขสบาย เราจึงตัดสินว่าเขาเกิดมามีกรรมเพราะเกิดมาจน โดยเรายังไม่ได้วิเคราะห์ว่าเขาเกลียดหรือเป็นทุกข์กับสภาพความยากจนของเขาเองหรือไม่ เพราะคนยากจนหลายคนก็ไม่ได้เป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับสภาพความจนยากที่เขาเป็นอยู่ ตรงกันข้ามคนจนบางคนกลับรู้สึกปรกติดีกับวิถีชีวิตที่ตนเองเป็นไป ผิดกับคนรวยบางคนที่อยู่ร้อนนอนทุกข์เพราะเป็นห่วงสมบัติบ้า อย่างนี้จะไปบอกว่าเกิดเป็นคนจนมีกรรมก็คงไม่ถูกนัก
เช่นเดียวกับชายรักชาย-หญิงรักหญิง กะเทย ทอม เกย์ดี้ รวมไปถึงบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งดูพวกเขาก็มีความสุขดีกับวิถีชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันหลายคู่พบว่าพวกเขามีความสุขดีกับการครองรักในเพศเดียวกัน และก็ดูจะมีความปรกติสุขกว่าคู่รักต่างเพศหลายคู่ที่เอาแต่ทะเลาะวิวาทหย่าร้างนอกใจกันทุกวี่วัน (ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๕ ก.ค. ๔๔ เพิ่งลงข่าวว่าคู่สมรสไทยจดทะเบียนหย่ากันปีละ ๖ หมื่นคู่ ช่างเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย) หนำซ้ำยังให้กำเนิดลูกออกมา-สร้างปัญหากับจิตใจให้เด็กด้วยเหตุพ่อแม่แยกทางกันอีก อย่างนี้คงต้องทบทวนกันใหม่เสียแล้วว่าใครกันแน่ที่เกิดมามีกรรม
ในฐานะที่การตีความหัวข้อธรรมในศาสนาให้เข้ากับยุคสมัยก็จัดเป็น “เสขิยธรรม” หรือ “ธรรมที่ควรศึกษา” ประการหนึ่ง ผู้เขียนจึงอยากเสนอมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องกรรมต่อบุคคลที่รักเพศเดียวกัน เพื่อให้ชาวพุทธได้ช่วยกันคิดและขยายฐานความเข้าใจเรื่องกรรมต่อประเด็นนี้ไว้ ๓ ประการ
ประการแรก เกิดเป็นกะเทย ทอม เกย์ ดี้ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างอื่น ๆ ไม่ได้เป็นกรรม ด้วยถ้าพูดว่าเป็นกรรมแล้ว การเกิดเป็นเพศไหนก็เป็นกรรมทั้งสิ้น เพราะคนทุกคนที่เกิดมาล้วนมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เหมือน ๆ กันทุกคน กรรมไม่เลือกเพศว่าเกิดเป็นชายเอากรรมไปน้อย ๆ ส่วนพวกที่เกิดมาเป็นผู้หญิง กะเทย ทอม เกย์ ดี้ พวกนี้เอากรรมไปมาก ๆ กรรมคงไม่แบ่งเช่นนั้น แต่ที่เราเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น นั่นคงมีสาเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติ – การกดขี่ – การกระทำรุนแรง – การใช้คำสบประมาท และความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้มากกว่านั่นเอง ปัจจุบันนี้สังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การเรียนรู้เรื่องการยุติความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การยุติการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง” สมควรอย่างยิ่งที่ชาวพุทธเราควรจะทำความเข้าใจในประเด็น เรื่องยุติการกระทำรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์กันให้มาก มากกว่าการนำเอาอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง มากล่าวหากันด้วยวาทะเรื่องกรรม ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อการให้ความเคารพในความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว การตัดสินว่าใครเกิดมามีกรรมทำให้เรามองข้ามความเป็นมนุษย์ในด้านอื่น ๆ ที่เขามี และยังเป็นการมองข้าม “โอกาสในการบรรลุธรรม” ของบุคคลไปด้วย
ประการที่สอง เป็นกรรมของสังคม “กรรม” ในความหมายของการกระทำร่วมกันของคนกลุ่มใหญ่ ที่กระทำต่อคนกลุ่มน้อย อันก่อให้เกิดบาป ๓ ด้านด้วยกัน คือ
ด้านกายกรรม คือการที่สังคมเลือกปฏิบัติ ได้แก่การเลือกไม่รับเข้าทำงานเพียงเพราะเห็นว่ามีบุคลิกภาพที่ดูออกว่าอาจเป็นบุคคลที่รักเพศเดียวกัน หรือในเรื่องสิทธิอันชอบธรรมอื่น ๆ ที่บุคคลเหล่านี้จะไม่ได้รับการปฏิบัติเช่นบุคคลทั่วไป ในต่างประเทศการเลือกปฏิบัติมีความรุนแรงมากถึงกับมีการทำลายทรัพย์สินของคนที่รักเพศเดียวกัน เช่น กรีดรถ เผาบ้าน ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายด้วยการทุบตี อาจจะด้วยความรังเกียจหรืออคติใด ๆ ก็ตาม นับเป็น “การทำบาปทางกาย” ที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง
ด้านวจีกรรม คือการ-ที่สังคมใช้ถ้อยคำสบประมาท เยาะเย้ยถากถางถึงพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของบุคคล เพื่อหวังให้บุคคลเกิดความอับอาย ทั้งในที่ส่วนตัวและที่สาธารณะ หรือการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจผิดต่าง ๆ ว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นพวกวิปริต ผิดปรกติ ไม่สบาย มีอารมณ์รุนแรง (ปัจจุบันสถาบันจิตเวชและจิตศาสตร์ในต่างประเทศรวมทั้งกรมสุขภาพจิตของไทยต่างก็สรุปแล้วว่า การรักเพศเดียวกันของบุคคล ไม่ได้เป็นอาการป่วยทางจิตอย่างที่เข้าใจ) ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นเป็นเพียงอคติที่ถูกสร้างขึ้น และก่อความเดือดร้อนใจให้กับบุคคลที่รักเพศเดียวกัน จัดเป็นวจีกรรมที่รุนแรงไม่แพ้กายกรรม
ด้านมโนกรรม คือการที่สังคมมีอคติต่อบุคคลที่รักเพศเดียวกัน มีทัศนคติที่ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ยอมรับว่าคนรักเพศเดียวกันมีตัวตนจริง นำไปสู่ความคิดที่เป็นลบและความรังเกียจอย่างรุนแรงต่อบุคคลที่รักเพศเดียวกัน ซึ่งมโนกรรมเป็นรากเหง้าไปสู่กายกรรมและวจีกรรมข้างต้น
เหล่านี้คือกรรมที่สังคมได้ทำกับคนที่รักเพศเดียวกัน ทั้งทางกาย วาจา และใจ
ประการที่สาม เป็นกรรมของสังคมไทยที่ตั้งอยู่บนรากฐานของโครงสร้างสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ การที่สังคมยกฐานะให้ชายเป็นใหญ่ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง หรือแม้แต่ศาสนา เป็นผลให้บุคคลที่มีเพศสภาพหรือวัยที่แตกต่างอื่น ๆ ไม่ได้รับการเหลียวแลและถูกเลือกปฏิบัติออกไป เช่น ผู้หญิง เด็ก คนชรา และเมื่อมีบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างเพิ่มขึ้นมาอีก ก็เป็นที่แน่นอนว่าบุคคลเหล่านี้จะต้องถูกผลักออกไปด้วย และอาจจะถูกผลักออกไปรุนแรงกว่าบุคคล ๓ ประเภทแรก ซึ่งลักษณะการถูกผลักออกไป จะเป็นไปในรูปแบบของกรรมประการที่สองข้างต้น ด้วยการทำบาป ๓ ด้าน (กาย วาจา ใจ) ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำจะหมุนวนไปมาภายใต้โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ดังกล่าวอย่างไม่มีวันจบสิ้น นับเป็นความรุนแรงที่เกิดกับเพื่อนร่วมโลกภายใต้โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ที่ควรเร่งรีบเยียวยาแก้ไข
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สังคมควรหันกลับมามองดูสมาชิกร่วมสังคมเดียวกันว่า แท้จริงแล้วสังคมเราประกอบไปด้วยบุคคลที่มีเพศสภาพหลายลักษณะ มีบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศมากมายหลายแบบ เป็นเรื่องยากที่เราจะบังคับให้มนุษย์มีเพียงเพศสภาพใดเพศสภาพหนึ่ง เพราะเป็นความพึงพอใจที่แตกต่างของแต่ละบุคคล สังคมควรให้ความเคารพในความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นด้วยธรรมะ ธรรมะคือธรรมชาติได้สร้างสรรค์ความหลากหลายให้เกิดขึ้นบนโลกนี้อย่างเหมาะสมแล้ว แม้แต่มนุษย์เองก็ยังมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างหลากหลาย นับเป็นความสมดุลทางธรรมชาติประการหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มประชากรโลก การใช้ความรุนแรงเข้าจัดระเบียบในสังคม นอกจากจะเป็นการก่อกรรมทำบาปซ้ำซ้อนให้กับเพื่อนร่วมโลกแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้สังคมขาดวิจารณญาณในการเข้าใจคนอย่างสันติวิธีอีกด้วย
การจะเป็นคนดีหรือไม่นั้นไม่ได้เริ่มต้นที่อัตลักษณ์ทางเพศ หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นเพศใดเพศหนึ่ง แต่เริ่มจากจิตใจว่ามีพรหมวิหารธรรมหรือไม่ นั่นคือมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอยู่ภายในใจหรือเปล่า สังคมควรสร้างค่านิยมใหม่ ๆ ให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยการให้ความสำคัญกับคุณธรรมด้านใน มากกว่าแค่อัตลักษณ์ภายนอก และมองความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจที่เป็นกลางอย่างมีพรหมวิหารธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองดูเพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วยใจอันเมตตา ยุติการถือเอาความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์มาเป็นข้ออ้างของการกดขี่ เพื่อที่สังคมมนุษย์จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีภราดรภาพและสงบสันติยิ่งขึ้น เมื่อใดที่เราสร้างสังคมให้เกิดความสงบสันติ เมื่อนั้นได้ชื่อว่า เรากำลังสร้างกรรมใหม่ให้กับสังคมและตนเอง กรรมใหม่ที่เป็นทั้งกรรมดีและเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งในเวลาเดียวกัน.



โดย : พระชาย วรธมฺโม ที่มา : http://skyd.org

ไม่มีความคิดเห็น: