วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549

เซ็กส์สิกขา 4 : "เพศ" ภายใต้โครงสร้างสังคม "ชายเป็นใหญ่"



เวลาที่เราทำการศึกษาเรียนรู้เรื่องราวปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคม วิธีการเรียนรู้ที่สามารถทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ของเรื่องราวได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็นวิธีหนึ่งก็คือการเรียนรู้ผ่านวิธีคิดแบบ ‘โครงสร้างสังคม’

วิธีคิดเแบบโครงสร้างสังคมคืออะไร ?
สังคมประกอบด้วยสถาบันหลายสถาบันประกอบขึ้นมาเป็นส่วนประกอบโครงสร้างของสังคม แต่ละสถาบันทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมให้ฅนที่อยู่ในสังคมคิด, ประพฤติ, ปฏิบัติ ดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามค่านิยมที่สถาบันทั้งหลายเหล่านั้นกำหนดเป็นกรอบขึ้นมา
สถาบันหรือโครงสร้างต่าง ๆ เหล่านั้นได้แก่ การศึกษา, ศาสนา, กฎหมาย, วัฒนธรรม, ประเพณี, ระบบการปกครอง ซึ่งสถาบันหรือโครงสร้างดังกล่าวเหล่านี้มีอิทธิพลต่อระบบความคิดความเชื่อรวมไปถึงพฤติกรรมของผู้คนในสังคม

โครงสร้างและแนวคิดเรื่องเพศในสังคมไทย
เมื่อเราทำการศึกษาเรียนรู้สถานการณ์เรื่องเพศ เพศ ก็มีมิติที่สัมพันธ์กับฅน ฅนก็มีมิติที่สัมพันธ์กับสังคม สังคมก็มีมิติที่สัมพันธ์กับวิธีคิดซึ่งสัมพันธ์กับระบบโครงสร้างสังคม จึงมีความจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้วิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศผ่านโครงสร้างสังคมไปด้วย
แล้วโครงสร้างสังคมไทยมีแนวคิดเรื่องเพศเป็นอย่างไร ? โครงสร้างและแนวคิดเรื่องเพศในสังคมไทยมีลักษณะแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’
แล้วโครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่เป็นอย่างไร ?
โครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ก็คือ สถาบันต่าง ๆ ในสังคมนั้น ๆ ให้ความสำคัญกับเพศชายมากกว่าเพศสภาพอื่น ๆ นั่นหมายความว่าระบบการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี การปกครอง โครงสร้างต่าง ๆ ดังกล่าวเหล่านี้ได้ให้ความหมายกับเพศชายเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสืบสกุลของสถาบันครอบครัว, การเป็นผู้นำในสถาบันการเมืองการปกครอง, การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในสถาบันศาสนา เนื้อหาของกฎหมาย วัฒนธรรม ประเพณี ที่เปิดโอกาสและให้ความสำคัญกับผู้ชายเป็นสำคัญ ในเมื่อโครงสร้างสังคมให้ความสำคัญกับเพศใดเพศหนึ่งเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเพศสภาพอื่น ๆ ตามมาซึ่งจะกล่าวในลำดับต่อไป

ลักษณะเด่นอื่นๆ ของสังคมชายเป็นใหญ่
นอกเหนือจากการกำหนดบทบาท หน้าที่ และการมอบความสำคัญให้กับเพศชายเป็นหลักแล้ว ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ยังมีลักษณะเด่นอื่น ๆ อีก ๔ ประการด้วยกัน คือ
๑. ให้ความสำคัญกับ ‘รักต่างเพศ’ (Heterosexual) เป็นหลัก เนื่องจากรักต่างเพศเป็นความรักระหว่างชายกับหญิง จึงเป็นกรอบอำนาจที่ลงตัวพอดิบพอดีในการมอบบทบาทความเป็นผู้นำให้กับชาย และมอบความเป็นผู้ตามให้กับหญิง ทั้งนี้ การศึกษา กฎหมาย ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ต่างก็วางหลักเกณฑ์และสนับสนุนการใช้ชีวิตคู่แบบรักต่างเพศไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นคู่รักเพศเดียวกันไม่ว่าจะเป็นชายกับชาย หญิงกับหญิง มักจะอยู่กันลำบากภายใต้โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่แบบนี้ เนื่องจากกฎหมายก็ไม่มีทะเบียนสมรสรับรองให้ วัฒนธรรมประเพณีก็ไม่ยอมรับ ศาสนาก็ไม่ได้พูดถึงการดำเนินชีวิตสำหรับเพศเดียวกันไว้ การศึกษาในโรงเรียนก็ไม่มีการบอกเล่าถึงสิทธิของการรักเพศเดียวกัน การมอบความสำคัญให้กับรักต่างเพศจึงเป็นการปกป้องพื้นที่ทางอำนาจให้กับเพศชายได้ดำรงอยู่ สังคมที่ชายเป็นใหญ่จึงมีการพยายามปฏิเสธรูปแบบความรักที่ ‘ไม่ใช่รักต่างเพศ’ ออกไป แต่จะมีรางวัลและคำชมเชยให้สำหรับรูปแบบความรักที่เป็น ‘รักต่างเพศ’
๒. ไม่มีพื้นที่ให้ ‘ผู้หญิง’ ควบคุม ‘ผู้หญิง’ รังเกียจ ‘ผู้หญิง’ (Misogyny or Sexism) เราคงจำกรณีรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้วได้ ในที่สุดคำตอบจากสถาบันสงฆ์ไทยก็คือการไม่เปิดโอกาสให้มีการบวชหญิงเป็นพระสงฆ์อย่างเป็นทางการ แม้การบวชหญิงเป็นพระสงฆ์จะมีระบุไว้ในพุทธศาสนาว่าสามารถบวชได้และเป็นส่วนหนึ่งของพุทธบริษัท ๔ ก็ตาม แต่การที่สังคมไทยมีลักษณะ ‘ชายเป็นใหญ่’ นั่นเอง อาการ ‘รังเกียจหญิง’ ที่มีอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่จึงยังคงทำหน้าที่ของมันได้ดี อีกทั้งสังคมชายเป็นใหญ่มีมุมมองต่อผู้หญิงว่าเป็น ‘มาร’ จึงมักมีการรณรงค์เรื่องเพศที่คอยออกมาควบคุมเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงมากกว่าควบคุมผู้ชาย การบอกให้ผู้หญิง ‘รักนวลสงวนตัว’ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพยายามควบคุมผู้หญิงให้อยู่ในร่องในรอย ในขณะที่ผู้ชายไม่มีการบอกเช่นนั้นแต่กลับมีการรณรงค์ให้สวมถุงยางอนามัยแทน จึงออกจะดูขัด ๆ กันอย่างไรชอบกลสำหรับการจัดวางที่ทางทางสังคมระหว่างชายกับหญิงที่มีความลำเอียงเช่นนี้
๓. รังเกียจ ‘กะเทย’ หรือรังเกียจความ ‘หลากหลายทางเพศ’ (Homophobia) เพราะ ‘กะเทย’ มีเพศสภาพที่ไม่ใช่ผู้ชายแข็งแกร่ง อกไม่สามศอก และถึงแม้จะเป็นกะเทยที่ยังมีองคชาติอยู่ (ยังไม่ได้ถูกตัดออก) ก็ตามเวลาที่กะเทยไปไหนมาไหนก็มักจะเป็นที่ขัดหูขัดตาของชาวบ้านทั่วไป (ยกเว้นในบทบาทของการเป็นผู้ให้ความบันเทิงหรือบทบาทการเป็นช่างเสริมสวย) การเป็นกะเทยในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ก็ยังเป็นปัญหาในความรู้สึกสำหรับผู้ฅนจำนวนมาก แม้แต่การเป็น ‘ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย’ ก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมไทยยังไม่อยากจะยอมรับได้ง่าย ๆ นักแม้ว่าเมื่อดูจากภายนอกจะเป็นผู้ชายที่ไม่ต่างจากผู้ชายทั่วไป แต่เพราะสังคมชายเป็นใหญ่ที่ยอมรับได้เฉพาะ ‘ผู้ชาย’ เท่านั้น ‘ผู้ชายที่แตกต่าง’ จึงเป็นอันต้องถูกรังเกียจไปด้วย สังคมชายเป็นใหญ่จึงไม่ยอมเปิดโอกาสให้เกิดการยอมรับเพศสภาพที่แตกต่างหลากหลายได้ง่ายนัก
๔. มองเรื่องเพศเป็นลบที่ต้องควบคุม เซ็กส์ภายใต้โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ได้ถูกควบคุมและถูกบอกว่าเป็นเรื่องต้องห้ามที่ควรระมัดระวังอย่าได้เข้าไปผัมผัสเข้าใกล้มากกว่าจะมีการมองว่าเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจกันได้ โดยที่แต่ละฅนก็มีอวัยวะเพศติดตัวกันมาอย่างน้อยคนละหนึ่งอันจึงเป็นไปไม่ได้ที่ฅนเราเกิดมาแล้วจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศแม้แต่น้อยนิด
ระบบการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ตัวบทกฎหมาย ต่าง ๆ นานาเหล่านี้มักจะพูดว่าเซ็กส์หรือเเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ต้องควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดอย่าให้ละสายตาไปได้มิเช่นนั้นจะเกิดการผิดศีลธรรมขึ้นมา เช่น ท้องก่อนแต่ง ติดเชื้อเอชไอวี เกิดปัญหาทางเพศ เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และในที่สุดก็นำไปสู่พฤติกรรมที่ผิดวัฒนธรรมประเพณีและมีโทษทางกฎหมายตามมา โครงสร้างสังคมที่คอยบอกคอยเตือนให้ระมัดระวังเรื่องเพศแบบตึงเครียดเช่นนี้ดูเป็นการเพิ่มปัญหาให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นมากกว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ฅนรู้สึกดีกับตัวเอง ระบบโครงสร้างสังคมแบบนี้จึงมักสอนฅนว่าเซ็กส์เป็นเรื่องสกปรกอย่างเข้าไปข้องแวะยุ่งเกี่ยวแทนที่จะสอนฅนว่าเซ็กส์เป็นเรื่องรื่นรมย์ทำอย่างไรจึงจะมีเซ็กส์ที่ปลอดภัย ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับสุขภาพจิตของฅนมากกว่า

การเข้าไปสำรวจตรวจสอบระบบวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมไทยจึงไม่อาจเข้าไปตรวจสอบอย่างลอย ๆ แล้ววิเคราะห์ตัดสินถูกผิดจากมุมมองของเราโดด ๆ ได้อีกต่อไป แต่เราควรมีกรอบวิธีคิดแบบโครงสร้างสังคมไว้คอยส่องดูสถานการณ์ทางเพศในสังคม เพื่อเราจะได้เห็นถึงโครงสร้างอะไรบางอย่างที่คอยโยงใย ควบคุม และกดดันผู้ฅนในเรื่องเพศ โดยเรามิอาจวิพากษ์วิจารณ์ ชี้ถูก-ชี้ผิด แบบเดิม ๆ ได้โดยปราศจากการมองเห็นรากเหง้าของปัญหาว่าจริง ๆ แล้วส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องเพศก็มาจากโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: