วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549
เซ็กส์สิกขา 3 : เพศในฐานะเรื่องการเมือง
ผู้คนจำนวนมากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศในฐานะเรื่องการเมืองทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว !
- ทำไมสังคมของเราต้องมีการรณรงค์เรื่อง ‘รักนวลสงวนตัว’ ด้วย
- ทำไมเราต้องคอยบอกเยาวชนของเราว่าอย่าไปยุ่งกับเซ็กส์ก่อนวัยอันควร
- ทำไมช่วงสงกรานต์จึงต้องคอยบอกคอยกำกับผู้หญิงไม่ให้สวมเสื้อสายเดี่ยว
- ทำไมจึงมีคนชอบออกมาบอกว่าภาพของเกย์ เลสเบี้ยน กะเทย ในทีวีเยอะเกินไป ควรลดน้อยลงกว่านี้
นั่นคือตัวอย่างของเรื่องเพศที่กลายเป็นเรื่องการเมือง
การเมือง คือ การใช้อำนาจระหว่างคนกลุ่มหนึ่งกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง (หรือระหว่างคนกลุ่มหนึ่งกับคนอีกหลาย ๆ กลุ่ม) ซึ่งเวลาเราพูดถึงเรื่องการเมืองเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่อง ‘อำนาจ’ หรือ เป็นไปไม่ได้ที่จะละเลยไม่พูดถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนที่มีอำนาจเหนือกว่ากับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า
ตัวอย่างของการเมืองเรื่องเพศทั้ง ๔ หัวข้อข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ดีของการแสดงให้เห็นว่าในสังคมของเรามีการใช้อำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์หรือให้คุณค่าต่อพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศในท่ามกลางบุคคลแต่ละกลุ่มอย่างไร ซึ่งนั่นเองที่เป็นเรื่อง ‘การเมือง’ จริง ๆ
เราจะเห็นได้ว่าอคติในความหวาดกลัวต่อประเด็นเรื่องเพศทั้งหลายแหล่ได้สรุปลงตรงความหวาดกลัวว่าสังคมไม่สามารถจะจัดการผู้คนในอยู่ในกรอบระเบียบอันดีงามได้ จึงมีการออกคำเตือน, รณรงค์, ประชาสัมพันธ์ แกมใช้อำนาจไปจนถึงขั้นใช้อำนาจอย่างเต็มที่ในการควบคุมกำกับพฤติกรรมทางเพศของผู้คนที่หลากหลายซึ่งถูกทำให้ ‘เข้าใจ’ ว่าเป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี และเป็นสาเหตุของความวุ่นวายต่าง ๆ นานา เราจึงได้เห็นคำเตือนทำนองนี้ถูกผลิตออกมาอีกหลายคำเตือนด้วยกัน จึงดูคล้าย ๆ กับว่าสังคมไทยเวลานี้เต็มไปด้วยคำเตือนเรื่องเพศร้อยแปดพันเก้ากระจัดกระจายอยู่ในอากาศ
คำเตือน, การรณรงค์, หรือการประชาสัมพันธ์ ว่าด้วยข้อห้ามเรื่องเพศดังกล่าวที่ประดังประเดกันออกมาต่างก็ไม่ได้มีการสำรวจวิจัยว่าประเด็นที่มีการออกมารณรงค์นั้นสามารถควบคุมหรือยุติความเลวร้ายทางเพศได้จริง
ยกตัวอย่างการออกมาบอกให้เยาวชนรักนวลสงวนตัว ก็ไม่มีการวิจัยว่าบอกแล้วเยาวชนสามารถงดเว้นการยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศได้จริง สังคมอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขได้จริง หรือที่บอกว่าเยาวชนไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศก่อนวัยอันควรนั้น ก็ไม่มีการบอกอย่างชัดเจนว่า ‘วัยอันควร’ ที่สามารถยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศได้นั้นคือ ‘อายุเท่าไหร่ ?’
หรือการที่ผู้หญิงใส่สายเดี่ยวในช่วงสงกรานต์เป็นต้นเหตุของคดีข่มขืนจริงหรือ ? การที่ผู้หญิงแต่งตัวมิดชิดแสดงให้เห็นว่าสังคมอยู่กันอย่างปรกติสุขจริงหรือ ?
หรือการที่ภาพของเกย์ กะเทย ทอม ดี้ ปรากฏในทีวีเป็นสัญญาณร้ายมากว่าจะบอกว่าบุคคลเหล่านี้มีตัวตนอยู่จริงในสังคมไทย ? หรือถ้าหากว่าการที่ไม่มีภาพของเกย์ กะเทย ทอม ดี้ ปรากฏในจอทีวีหมายความว่าในสังคมของเราไม่มีพวกเขาเหล่านั้น ?
การไม่เข้าไปทำความเข้าใจกับประเด็นทางเพศดังกล่าว แต่กลับหันไปสร้างคำเตือน, ทำการรณรงค์, สร้างการประชาสัมพันธ์เพื่อใช้อำนาจควบคุมและกำกับพฤติกรรมของผู้คนเช่นนี้จึงกลายเป็นการเมืองเรื่องเพศไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่สำคัญก็คือคำเตือน, การรณรงค์, การประชาสัมพันธ์ดังกล่าวได้ส่งผลสะท้อนกลับให้เยาวชนจำนวนมาก ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย เกย์ กะเทย เลสเบี้ยนจำนวนมาก กระทำการท้าทายต่อกฎเกณฑ์และข้อห้ามดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
เราจึงได้เห็นอาการโต้ตอบกันไปมาระหว่างคนสองกลุ่มที่มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเพศ เพื่อแสดงออกทางเพศและแสดงตัวตนในทางเพศ ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ อันเป็นการใช้อำนาจและแสดงอำนาจระหว่างกันไปมา เพื่ออย่างน้อยก็เป็นการบ่งบอกว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมจำนนต่อวาทกรรมที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะแห่งนั้น
การเมืองเรื่องเพศ ที่เรามักจะวาดภาพว่าต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นรัฐสภาหรือในพื้นที่ที่เป็นการเมืองแบบรูปธรรมก็คงไม่ได้เป็นภาพเช่นนั้นอีกต่อไป
การเมืองที่ผูกโยงไปยังเรื่องเพศ หรือ เรื่องเพศที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องการเมือง จึงสามารถเกิดขึ้นได้ทุก ๆ ที่เมื่อที่นั้น ๆ มีการใช้อำนาจโดยฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่ากระทำต่อผู้มีอำนาจด้อยกว่าอย่างปราศจากการปราณีปราศรัย หรืออย่างปราศจากการลงไปทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นทางเพศที่พากันคิดและเข้าใจกันไปว่าเพศเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาทางด้านศีลธรรม โดยมีมายาคติเกี่ยวกับความหวาดกลัวระแวดระวังในเรื่องเพศเป็นรากเหง้าของปัญหาดังกล่าว.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น